ประสบการณ์หางานของนักศึกษาต่างชาติสายสังคมที่จบการศึกษาในปี 2024
2023.11.24
สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ ฉันเป็นนักศึกษาต่างชาติสายสังคมที่กำลังจะจบการศึกษาในเดือนมีนาคม 2024 ค่ะ ในบทความนี้ฉันอยากจะแชร์ประสบการณ์และความรู้สึก เกี่ยวกับความพยายามในการหางานที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วค่ะ
ฉันไม่มีใบรับรองทักษะใด ๆ เลยนอกจากทักษะทางภาษา และก็ไม่ค่อยได้ไปฝึกงานมากสักเท่าไหร่ด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการตอบรับจากบริษัทต่างชาติรายใหญ่ที่ฉันสนใจเป็นอันดับหนึ่งค่ะ ส่วนหนึ่งก็พูดได้ว่าฉันค่อนข้างโชคดีมากเลยทีเดียว แต่ก็อยากจะถือโอกาสนี้รวบรวมเอาประสบการณ์การหางานของตัวเองมาแบ่งปันกัน โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับรุ่นน้องนักศึกษานานาชาติที่จะหางานที่ญี่ปุ่นกันต่อไปนะคะ
1. ไทม์ไลน์การหางาน (สำหรับคนที่เรียนจบในปี 2024)
มิถุนายน 2022: ในช่วงเดือนมิถุนายนของปีการศึกษาที่ 3 ฉันและเพื่อนได้สมัครเว็บไซต์ที่มีข้อมูลการหางานสำหรับนักศึกษาจบใหม่อย่าง MyNavi และ Rikunabi โดยยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกสายงานที่สนใจเป็นพิเศษ เพื่อนรอบตัวของฉันเริ่มหาที่ฝึกงานช่วงฤดูร้อน ฉันเลยเริ่มคิดที่จะหาด้วยเช่นกัน จึงได้เริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสายงานต่าง ๆ และได้รู้จักชื่อบริษัทหลายบริษัทเลยทีเดียวค่ะ
กรกฎาคม 2022: ฉันสมัครฝึกงานไปหลายบริษัทแต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ผ่านตั้งแต่รอบคัดเลือกเอกสาร ถึงอย่างนั้น ฉันก็ได้ไปฝึกงานแบบวันเดียวหลายที่เลยค่ะ (ไม่มีการคัดเลือก ฝึกแบบออนไลน์เป็นหลัก มีการแนะนำบริษัทและกรุ๊ปดิสคัสชั่น) ซึ่งทำให้ฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการทำงานเป็นทีม และได้รู้จักสายงานที่หลากหลายทั้งไอที โทรคมนาคม การผลิต และการธนาคาร และในเวลาเดียวกันนั้นก็ได้เริ่มต้นฝึกงานระยะยาวในสาขาการท่องเที่ยวด้วย
ตุลาคม 2022: ฉันเริ่มสมัครในเว็บไซต์หางานสำหรับเด็กจบใหม่กว่า 20 แห่งเพื่อจะได้มีข้อมูลรายละเอียด อีกทั้งยังได้เข้าฟังการแนะนำบริษัทของบริษัทต่าง ๆ อีกจำนวนมาก โดยในระหว่างนั้นก็เริ่มมองว่าตัวเองสนใจงานด้านไอที จากนั้นจึงเริ่มต้นเรียนเกี่ยวกับ SPI (Synthetic Personality Inventory: การทดสอบความถนัดทั่วไป) และภาษาอังกฤษด้วยค่ะ
พฤศจิกายน 2022: บริษัทต่างชาติบางแห่งเริ่มคัดเลือกจริงช่วงนี้ค่ะ ฉันเลยเริ่มสมัครดูแต่ก็ไม่ผ่านตั้งแต่รอบเอกสารใบสมัคร หรือ entry sheet (ES) จึงขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่ศูนย์จัดหางานของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์ได้ช่วยพัฒนาการเขียน ES และฝึกซ้อมการสัมภาษณ์ให้ด้วยค่ะ ในช่วงนี้ ฉันตัดสินใจว่าสายงานที่ต้องการสมัครคือสายงานไอที จึงได้เริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับงานด้านนี้ และเลือกประเภทงานที่ต้องการสมัคร หลังจากนั้นก็ได้สอบ TOEIC และสอบวัดระดับทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ (JBT) และเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองด้วยค่ะ
มกราคม 2023: ช่วงนี้ฉันยังคงสมัครตามหน้าเว็บของบริษัทที่สนใจ และเข้าฟังการแนะนำบริษัทอย่างต่อเนื่อง นอกจากบริษัทใหญ่ ๆ แล้ว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กฉันก็ยื่นใบสมัครด้วย และก็ได้รับโอกาสให้เข้าสัมภาษณ์ด้วยค่ะ โดยมากแล้วฉันจะใช้ OfferBox ในการติดต่อกับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก คำถามที่ฉันมักเจอบ่อย ๆ ตอนสัมภาษณ์ เช่น “สิ่งที่เราพยายามเป็นพิเศษในช่วงมหาวิทยาลัย” “เหตุผลที่สมัครกับบริษัทนี้” “ทำไมเรียนสายสังคมแต่สมัครงานสายไอที” “สาเหตุที่มาเรียนต่อที่ญี่ปุ่น” ซึ่งฉันก็จะเขียนคำตอบเตรียมไว้ และฝึกซ้อมหลายรอบเลยทีเดียว
มีนาคม 2023: ฉันได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ศูนย์จัดหางานของมหาวิทยาลัยว่าให้รักษารอยยิ้มเอาไว้เสมอเวลาที่เข้าสัมภาษณ์งาน จริง ๆ แล้วตอนนั้นฉันไม่ได้คาดหวังกับการสัมภาษณ์มากค่ะ เลยไม่ได้เกร็งมากเวลาสัมภาษณ์ (หัวเราะ) และพอคุ้นชินกับการสัมภาษณ์แล้ว ก็ผ่านสัมภาษณ์รอบแรกได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จากนั้น ฉันจึงได้เข้าร่วมการคัดเลือกของบริษัทที่อยากเข้าเป็นอันดับต้น ๆ หลายบริษัท ซึ่งพอเป็นบริษัทที่อยากเข้าก็เลยจะเกร็งนิดหน่อย แต่เพราะได้เตรียมตัวมาอย่างดีแล้วก็สามารถก้าวผ่านความกังวลนั้นไปได้ค่ะ
พฤษภาคม 2023: ฉันเข้าสัมภาษณ์กับบริษัทที่อยากได้มากที่สุด และโชคดีได้รับการตอบรับให้เข้าทำงานในที่สุดค่ะ
2. ข้อคิดจากการหางาน
(1) การไม่ผ่านการคัดเลือกเพื่อฝึกงานไม่ใช่วันสิ้นโลก
ตอนแรกฉันคิดว่าการที่ไม่ได้ฝึกงานช่วงฤดูร้อนอาจทำให้เสียโอกาสสำหรับบริษัทที่คัดเลือกผู้สมัครงานเร็ว และเป็นกังวลว่าจะต้องฝึกงานช่วงฤดูหนาวให้ได้ แต่พอถึงตอนนี้ที่ผ่านการหางานมาแล้ว ฉันก็คิดว่าการฝึกงานอาจไม่ได้สำคัญมากขนาดนั้น
แน่นอนว่าการฝึกงานเป็นโอกาสดีที่จะได้สะสมประสบการณ์ บางสายงานมีกระบวนการคัดเลือกเร็วผ่านการฝึกงานแล้วต่อตัวการคัดเลือกเลย แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ฝึกงานก็ยังสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกในรอบรับสมัครจริงได้ค่ะ และหากรีบไปสมัครงานโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวเลย ก็อาจทำให้ได้รับการประเมินไม่ดีก็เป็นได้นะคะ นอกจากนี้ บางบริษัทให้ผู้สมัครทดสอบความถนัดทางเว็บไซต์ได้เพียงครั้งเดียว พอถึงรอบคัดเลือกจริงก็จะให้ใช้คะแนนจากตอนฝึกงานเลยก็มี ฉันมองว่าหากเป็นบริษัทที่มีการฝึกงานระยะยาวแบบ Microsoft และ Google ก็ควรไปฝึกเลยโดยไม่ต้องลังเล แต่สำหรับการฝึกงานระยะสั้น ๆ อย่างการฝึกงานวันเดียวนั้น หากใครไม่มีเวลาก็ไม่ต้องเข้าร่วมก็ได้ค่ะ แต่ขอให้เข้าฟังการแนะนำบริษัท รวบรวมข้อมูลให้ดี ๆ ฝึกฝนทำข้อสอบ SPI ปรับปรุง ES ของตัวเอง และซ้อมสัมภาษณ์ให้พร้อมก็เพียงพอแล้วค่ะ
(2) วิเคราะห์ตัวเองและค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัทให้ดี
การวิเคราะห์ตัวเองนั้นไม่ใช่เพียงการวิเคราะห์เพื่อการหางานเท่านั้น แต่หมั่นคิดทบทวนเกี่ยวกับ “การใช้ชีวิต” และ “หน้าที่การงาน” อยู่อย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะพูดคุยเรื่องเหล่านี้กับเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ โดยฉันคิดว่าควรคิดทบทวนสามเรื่อง ได้แก่ “สิ่งที่สังคมต้องการ” “สิ่งที่ตัวเองอยากทำ” และ “สิ่งที่ตัวเองทำได้” พอถึงตอนสัมภาษณ์จำเป็นต้องอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลให้ได้ว่า “สิ่งที่ตัวเราอยากทำในอนาคตคืออะไร” “เหตุผลที่อยากทำ” “อะไรที่ทำให้เชื่อว่าเราทำได้” และ “สิ่งที่เราอยากทำนั้นเหมาะกับสายงานหรือบริษัทไหน” ทั้งนี้ ก็เพื่อให้คนสัมภาษณ์เข้าใจได้อย่างชัดเจนค่ะ
ตอนที่ฉันเริ่มหางานไม่ค่อยได้ค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัทมากนัก คิดเพียงแค่ว่าถ้าอ่านหน้าเว็บของบริษัทก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่พอเข้าสู่เส้นทางหางานมาได้ครึ่งทางก็เริ่มเห็นว่าความต่างระหว่างเรากับผู้สมัครคนอื่น ๆ สำคัญมาก จึงเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับบริษัทอย่างจริงจัง เตรียมเหตุผลและวางเป้าหมายในการสมัครให้ชัดเจน ทำให้กรรมการสอบรู้สึกได้ว่าเราต้องการเข้าทำงานที่นี่มาก ๆ ต่างจากผู้สมัครคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
(3) ยื่นใบสมัครบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย
ตอนแรกฉันไม่ค่อยรู้จักบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากนัก เลยสมัครแต่บริษัทใหญ่ ๆ ที่รู้จักชื่ออยู่แล้ว ถึงแม้ว่าตอนแรกเราอาจจะไม่ได้คิดว่าจะทำงานในบริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือสตาร์ทอัพ แต่ฉันแนะนำให้สมัครไปหลาย ๆ แห่งค่ะ เพราะวิธีการทำงานและบรรยากาศการทำงานของบริษัทขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กนั้นต่างกัน ซึ่งเราอาจไม่เหมาะกับบริษัทขนาดใหญ่ก็เป็นได้ บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพนั้นมีโอกาสสัมภาษณ์มากกว่า การได้สัมผัสกับฝ่ายบุคคลและกรรมการสัมภาษณ์ก็จะได้เรียนรู้อะไรมากมายเลยค่ะ การติดต่อกับบริษัทต่าง ๆ ก็อาจทำให้เราได้เจอกับบริษัทที่เรารู้สึกอยากทำด้วยก็เป็นได้ และเมื่อได้รับการตอบรับจากบริษัทก็จะเป็นการตอกย้ำความมั่นใจให้กับเราอีกด้วย
3. บทส่งท้าย
มีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากที่ต้องการจ้างนักศึกษานานาชาติมาก ๆ นะคะ หากต้องการหางานที่ญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ การเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก นักศึกษานานาชาติอาจไม่ค่อยรู้ขั้นตอนการหางานที่ญี่ปุ่นเหมือนนักศึกษาญี่ปุ่น ทำให้เริ่มเตรียมตัวช้า ดังนั้น เพื่อไม่ให้พลาดโอกาส ต้องหมั่นแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนรอบตัวทั้งนักศึกษานานาชาติและนักศึกษาญี่ปุ่น และเข้าสู่กระบวนการหางานไปพร้อม ๆ กัน เวลาที่เหนื่อยท้อก็สามารถช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกันได้ นอกจากนี้ ลองใช้บริการของศูนย์จัดหางานของแต่ละมหาวิทยาลัยดูนะคะ ปรึกษากับอาจารย์ที่ศูนย์แต่เนิ่น ๆ จะทำให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง
ฉันขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้งานที่ชอบในญี่ปุ่น สู้ ๆ นะคะทุกคน
(ผู้เขียน: ลี หยวนจิน มหาวิทยาลัยโดชิชา)