มองเกียวโตผ่านนิยาย:บทสัมภาษณ์คุณโมริมิ โทมิฮิโกะ
2022.10.12
เดินชมฉากในนิยายไปพร้อมกับคุณโมริมิ
การสัมภาษณ์ครั้งนี้เรานัดเจอกับคุณโมริมิที่สถานี “เดมาจิยานางิ” ของรถไฟสายเอซันที่เกียวโต เราได้เดินพร้อมกันไปยังฉากที่ปรากฎอยู่ในนิยายหลาย ๆ เรื่อง เช่น “Yojōhan Shinwa Taikei” “Yoru Wa Tan Shi Arukeyo Otome” และ “Uchōten Kazoku” โดยเริ่มจาก “สะพานคาโมะ โอฮาชิ” “สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคาโมะ” “ป่าทาดะสุ” ในศาลเจ้าชิโมะกาโมะ “แยกเฮียคุมังเบน” แล้วจึงแวะไปยังคาเฟ่ “ชินชินโด” ทางหน้าประตูทิศเหนือของมหาวิทยาลัยเกียวโตครับ ระหว่างทางพวกเราก็ได้คุยเรื่องราวต่าง ๆ กับคุณโมริมิไปด้วย จริง ๆ แล้วในครั้งนี้นอกจากผมแล้วก็ยังมีคุณหวัง ฉวน (Wang Xuan) และคุณฉี เหล่ายิง (Shi Ruo-ying) ร่วมสัมภาษณ์ด้วยนะครับ พวกเราสามคนได้ถามคำถามกับคุณโมริมิเยอะมาก เพราะพวกเราต่างก็เป็นแฟนของคุณโมริมิด้วยกันทุกคน ซึ่งนั่นก็รวมถึงตัวผมเองด้วยนะครับ จึงทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้สนุกมาก ๆ และการที่จะได้เดินชมฉากในนิยายไปพร้อมกับนักเขียนที่ชื่นชอบนั้น ก็ไม่ใช่โอกาสที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้ง่าย ๆ ด้วยนะครับ
พวกเราพักดื่มรามูเนะ (ramune) กันที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำคาโมะครับ ใครที่สงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมอยู่ ๆ ผมถึงพูดถึงรามูเนะขึ้นมา ลองหาคำตอบในผลงานเรื่องใหม่ของคุณโมริมิ เรื่อง “Yo Jōhan Taimumashinburūsu” ดูได้นะครับ เพราะในเรื่องนี้รามูเนะถือเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องเลยก็ว่าได้ (ในความรู้สึกของผมนะครับ…)
ในบรรดาสถานที่ที่พวกเราแวะเวียนกันไปครั้งนี้ ผมชอบศาลเจ้าชิโมะกาโมะมากที่สุดครับ ชอบความรู้สึกสงบของที่นั่นครับ
สัมภาษณ์คุณโมริมิ
ในการสัมภาษณ์ พวกเราได้ถามคุณโมริมิเกี่ยวกับผลงานและการเขียนวรรณกรรมของนักประพันธ์ ซึ่งคุณโมริมิก็ค่อย ๆ อธิบายให้เราฟังอย่างละเอียดเลยทีเดียว บทสัมภาษณ์นี้จึงอาจจะยาวสักหน่อย แต่อยากให้ทุกคนค่อย ๆ อ่านไปด้วยกันจนจบเลยนะครับ
คาเฟ่ “ชินชินโด” ที่หน้าประตูทิศเหนือของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่พวกเราไปนั่งคุยกันนั้น เป็นฉากหนึ่งในเรื่อง “Yoru wa Mijikashi Aruke yo Otome” ครับ และด้วยความใจดีของเจ้าของร้าน พวกเราก็เลยได้นั่งคุยที่โต๊ะเดียวกันกับที่ตัวละครในเรื่องนั่งเลย (การถ่ายภาพในร้าน ได้รับอนุญาตจากทางร้านแล้วครับ)
――เวลาที่คุณโมริมิเขียนนิยาย มีวิธีการทำงานตายตัวมั้ยครับ เช่น สิ่งที่ต้องกำหนดก่อนเริ่มต้นเขียน หรืออะไรทำนองนี้นะครับ
ผมเป็นประเภทที่ถ้ากำหนดทุกอย่างไว้ตายตัวหมดตั้งแต่แรกแล้วจะค่อนข้างเขียนงานออกมายาก ก็เลยไม่ได้มีวิธีการทำงานตายตัวนะครับ มีทั้งการเขียนโดยคิดไว้อย่างดีก่อนเขียน และการเขียนที่ไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้า หัวใจของงานแต่ละชิ้นก็จะต่างกันครับ อย่างเรื่อง “Uchōten Kazoku” ผมเริ่มกำหนดตัวเอกและตัวละครอื่น ๆ ก่อนแล้วค่อยเขียนเรื่องราวทีหลัง ส่วนเรื่อง “Yoru wa Mijikashi Aruke yo Otome” (ค่ำคืนนั้นแสนสั้นนัก จงเดินเถอะสาวน้อย) นั้น ผมคิดชื่อเรื่องออกก่อนเป็นอย่างแรกเลยครับ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากท่อนหนึ่งในเนื้อเพลงญี่ปุ่นชื่อ “Gondola no Uta” ที่ร้องว่า “inochi mijikashi koi seyo otome” (ชีวิตนั้นแสนสั้นนัก จงมีความรักเถอะสาวน้อย) ซึ่งผมก็คิดว่า “ในช่วงค่ำคืนสั้น ๆ จะไปเดินที่ไหนดี?” และก็คิดต่อว่า “ถ้าจะเดินเมืองยามค่ำคืนในเกียวโตก็น่าจะต้องเป็นพนโตะโจ” ประมาณนี้ครับ ค่อย ๆ คิดต่อไปเรื่อย ๆ
จริง ๆ แล้ว วิธีการทำงานในการสร้างเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกันไปแต่ละครั้ง จนถึงตอนนี้ผมก็ยังคงหาวิธีทำงานที่เหมาะอยู่เลยนะครับ สมัยที่เริ่มเขียนงานใหม่ ๆ ตอนนั้นก็เคยคิดว่าอีกสัก 20 ปีก็คงจะเขียนเรื่องออกมาได้แบบลื่นไหล แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เลยนะครับ (หัวเราะ)
――ช่วงแย่ ๆ ที่เขียนไม่ออก คุณโมริมิหาแรงบันดาลใจให้ตัวเองยังไงครับ
ก็อ่านหนังสือเยอะ ๆ หรือไม่ก็ออกไปข้างนอกครับ ทำทุกอย่างตามปกติเลย ไม่มีวิธีที่ทำแล้วจะเขียนได้ราวกับเสกเวทย์มนต์หรอกครับ บางทีตอนที่เขียนไม่ได้แล้วกลับมานั่งซึมอยู่ที่บ้านว่า “เขียนไม่ได้เลย” ภรรยาของผมก็จะให้กำลังใจว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เขียนได้นะ” (หัวเราะ)
เดี๋ยวนี้ ตอนที่คิดเริ่มจะรู้สึกอยากจะเลิกเขียนขึ้นมาประมาณนึง ผมก็จะคิดว่า “เออ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เขียนได้มั้ง” ไม่ฝืนเค้นเขียนเอาตอนนั้นนะครับ ทุกวันผมจะนั่งโต๊ะทำงานเพื่อเขียนอะไรไปเรื่อย ๆ พอตอนที่ไม่เวิร์คก็จะปรับอารมณ์ คิดว่า “พรุ่งนี้ค่อยพยายามใหม่อีกทีละกัน” แต่ก็กำหนดให้ตัวเองต้องเขียนทุกวันนะครับ
ผมมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มวันที่เรารู้สึกว่า “เออ วันนี้เขียนได้ดีเลย” และลดวันที่เรารู้สึกว่า “อืม วันนี้เขียนไม่ได้เลย” ให้ได้มากที่สุดครับ
――ผลงานของคุณโมริมิส่วนใหญ่จะมีตัวละครที่เป็นนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่เลยนะครับ ตอนนี้คุณโมริมิยังได้มีการพบปะกับนักศึกษาเพื่อสำรวจชีวิตของนักศึกษาในปัจจุบันอยู่มั้ยครับ
จริง ๆ ไม่ได้มีโอกาสพบปะเลยครับ เลยไม่รู้เลยว่านักศึกษาตอนนี้เป็นยังไงกันบ้างนะครับ ผมไม่ค่อยได้เขียนงานที่เป็น “ภาพแทนนักศึกษาปัจจุบัน” สักเท่าไหร่ อย่างในเรื่อง “Yo Jōhan Taimumashinburūsu” เอง ถึงแม้จะพึ่งตีพิมพ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมก็คิดว่าตัวละครต่างกับนักศึกษาในปัจจุบันมากเลยทีเดียวนะครับ
――แต่ผมรู้สึกว่ามีอะไรร่วมกันหลายอย่างเลยนะครับ
ถ้าอย่างนั้นผมก็ดีใจครับ (หัวเราะ)
ตั้งแต่สมัยที่เริ่มเขียน ตัวละครนักศึกษาของผมมักจะมีภาพลักษณ์เป็นนักศึกษาสมัยก่อน โบราณ ๆ หน่อย ไม่ค่อยเป็นนักศึกษาปัจจุบันเท่าไหร่ น่าจะเรียกว่าเป็น “นักศึกษาในจินตนาการ” มากกว่า เพราะอย่างนั้น ถึงแม้ว่าจะมีอะไรที่ต่างกับนักศึกษาในปัจจุบัน ความต่างนั้นก็อาจจะไม่ได้โดดเด่นเตะตามากมายนะครับ
นักเขียนบางคนอาจจะใช้วิธีการฟังเรื่องราวของนักศึกษาปัจจุบันเพื่อรู้จักและสามารถเขียนเกี่ยวกับนักศึกษาในนิยายของเขาได้ แต่ผมมักเขียนเกี่ยวกับนักศึกษาในจินตนาการ ก็เลย “เป็นไปได้” ที่จะมี “นักศึกษาที่ไม่น่ามีจริง” เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองออกมา มากกว่าเขียนให้สมจริงครับ
――นิยายของคุณโมริมิหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ และหลายคนก็รู้จักคุณโมริมิจากอนิเมะ คุณโมริมิคิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างครับ
มีคนที่รู้จักผลงานของผมจากอนิเมะหลายคนเลยครับ หลายคนดูอนิเมะแล้วสนุกก็ไปตามหานิยายเรื่องนั้นหรือเรื่องอื่น ๆ มาลองอ่านดู ซึ่งผมก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ เลยครับ
เวลาที่นักศึกษานานาชาติอ่านนิยายของผม ได้อ่านเวอร์ชั่นแปลมั้ยครับ ผมอ่านภาษาในเวอร์ชั่นแปลไม่ออก ก็เลยอยากรู้ว่าคนอ่านรู้สึกแบบเดียวกับเวลาอ่านภาษาญี่ปุ่นรึเปล่า โทนและจังหวะจะโคนในภาษาญี่ปุ่นที่ผมใช้ มีส่วนในการดำเนินเรื่องราวด้วย ผมเลยอยากรู้ว่าจังหวะเหล่านี้ถูกถ่ายทอดไปยังเวอร์ชั่นแปลได้ด้วยรึเปล่านะครับ
――หลายเวอร์ชั่นเลยครับ ทั้งภาษาญี่ปุ่น เวอร์ชั่นแปล และซับไตเติ้ลอนิเมะด้วย ผมคิดว่ามีสำนวนเฉพาะที่ทำให้สนุกเวลาอ่านภาษาเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่นนะครับ แต่เวลาดูอนิเมะซึ่งมีภาพประกอบก็ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น คุณโมริมิคิดว่าต้นฉบับกับนิยายมีความแตกต่างกันยังไงบ้างครับ
มีนิยายหลายเรื่องที่ถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะ แต่ว่าภาพรวมของอนิเมะแต่ละเรื่องก็จะต่างกันไปตามผู้กำกับแต่ละคนครับ เนื่องจากบุคลิก วิธีการจัดองค์ประกอบ ความเข้มข้นของผู้กำกับแต่ละคนนั้นต่างกันครับ
แต่ถ้ามองจากมุมมองของคนเขียนต้นฉบับอย่างจริงจังแล้ว ก็มีส่วนที่รู้สึกว่าต่างจากโลกทัศน์ในต้นฉบับอยู่นิดหน่อย คนดูอาจจะคิดว่า “ใช่ละ แบบนี้แหละ” แต่ละคนมีโลกทัศน์ของตัวเอง ความเห็นของคนเขียนต้นฉบับก็อาจจะน่ารำคาญไปนะครับ (หัวเราะ)
――คำถามสุดท้ายครับ ในผลงานเรื่องล่าสุด “Yo Jōhan Taimumashinburūsu” มีการพูดถึงเครื่องไทม์แมชชีนย้อนเวลาด้วยใช่มั้ยครับ ถ้าคุณโมริมิสามารถใช้เครื่องไทม์แมชชีนได้ คุณโมริมิอยากย้อนกลับไปตอนไหนมากที่สุดครับ
อยากย้อนกลับไปช่วงประถมครับ (ทศวรรษ 1980) ตอนนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ สภาพบรรยากาศสังคมต่างกับตอนนี้มากเลยครับ แต่ผมยังเป็นเด็กประถมก็เลยไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก ผมอยากย้อนกลับไปดูด้วยตาตัวเองและซึมซับบรรยากาศจริงว่าสภาพสังคมและเมืองในตอนนั้นเป็นยังไง ตอนนี้มีเพียงเศษเสี้ยวความทรงจำจากมุมมองในวัยเด็กเท่านั้น ผมอยากรู้ว่าข้างนอกนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้างนะครับ
――ขอบคุณคุณโมริมิมาก ๆ เลยนะครับ
บทส่งท้าย
ในการสัมภาษณ์คุณโมริมิครั้งนี้ เราได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานของคุณโมริมิจากตัวคุณโมริมิเอง ทำให้ได้มุมมองและแง่คิดหลายอย่างเลยนะครับ ต้องขอบคุณคุณโมริมิมาก ๆ เลยครับ พวกเราจะคอยติดตามผลงานของคุณโมริมิต่อไปครับ
คุณโมริมิพูดว่า “เกียวโตที่ผมเขียนในนิยาย อาจจะแตกต่างไปจากเกียวโตทั่ว ๆ ไป หรือเกียวโตในความเป็นจริงนะครับ” ผมเองก็คิดว่าเกียวโตในความรู้สึกของผมอาจจะแตกต่างจากเกียวโตในความรู้สึกของคนอื่นเช่นกัน ซึ่งความรู้สึกที่ต่างกันนั้นก็ล้วนแล้วแต่ถูกต้องเป็นจริงด้วยกันทั้งสิ้น ผมอาจจะไม่สามารถเอาเกียวโตของผมออกมาเขียนเป็นนิยายได้ แต่ผมตั้งใจว่าในชีวิตที่มีเพียงครั้งเดียวของผม ผมอยากใช้ชีวิตนักศึกษาในเกียวโตจนจบโดยไม่รู้สึกเสียใจภายหลัง และจะเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์ที่หาได้เฉพาะในเกียวโตอย่างเต็มที่ครับ
(ผู้เขียน: หลี่ หวงเอิน (Lee Hung-en) มหาวิทยาลัยโดชิชะ)
ประวัติของ โมริมิ โทมิฮิโกะ
เกิดปี 1979 จังหวดนารา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ปี 2003 ได้รับรางวัลวรรณกรรมญี่ปุ่นแฟนตาซีจากเรื่อง “Taiyō no Tō” ซึ่งถึงถือเป็นการเปิดตัวผลงานเรื่องแรกด้วย ต่อมาในปี 2007 ได้รับรางวัล Yamamoto Shūgorō จากเรื่อง “Yoru wa Mijikashi Aruke yo Otome“ และในปี 2010 ได้รับรางวัลวรรณกรรมญี่ปุ่นแนววิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) จากเรื่อง “Pengin Haiwei” นอกจากนั้น ยังมีผลงานอื่น ๆ อาทิ “Yojōhan Shinwa Taikei” “Uchōten Kazoku” และ “Nettai”