การเตรียมตัวสำหรับการหางานในอนาคตเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้
2022.09.29
นักศึกษานานาชาติที่กำลังเรียนอยู่ที่อยู่ญี่ปุ่นตอนนี้มีใครคิดมั้ยครับว่า มาเรียนที่ญี่ปุ่นทั้งทีก็อยากจะหางานทำที่ญี่ปุ่นดูบ้าง แน่นอนว่าบางคนวางแผนจะกลับประเทศหลังจากเรียนจบ แต่ก็มีหลายคนเลยที่อยากทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่นจริงมั้ยครับ ผมเองก็มีเป้าหมายที่จะหางานที่ญี่ปุ่นครับ ผมเริ่มต้นหางานจากที่ไม่มีประการณ์อะไรเลย และพอเริ่มหางานไปเรื่อย ๆ ก็รู้สึกขึ้นมาหลายครั้งเลยครับว่า “จริง ๆ ถ้าเตรียม ... เร็วกว่านี้ก็คงจะดี” ในบทความนี้ผมเลยอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้กับรุ่นน้องที่กำลังวางแผนจะหางานที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะสิ่งที่ควรเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับการหางานของเราในอนาคตครับ
รู้ช่วงเวลาและลำดับขั้นตอนการสมัครงาน
ก่อนเริ่มต้นหางานจำเป็นต้องทำความเข้าใจระบบการหางานที่ญี่ปุ่นก่อนนะครับ สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย หรือวิทยาลัยเฉพาะทางนั้น จะเข้าสู่ “การหางานสำหรับนักศึกษาจบใหม่” ครับ และหากใครสงสัยว่า “การหางานคืออะไร” และ “อะไรคือลักษณะเฉพาะและกฎเกณฑ์ในการหางานที่ญี่ปุ่น” ก็สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างนี้เลยนะครับ
Study Kyoto Magazine “วิธีการหางานในญี่ปุ่นของนักเรียนต่างชาติ”
องค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น “คำแนะนำสำหรับการหางานของนักศึกษานานาชาติ”
นอกจากนี้ การใช้เว็บไซต์หางานก็ช่วยให้เราเตรียมตัวได้ดีมากเลยนะครับ ซึ่งส่วนตัวแล้วผมอยากแนะนำ 3 เว็บไซต์ ได้แก่ “Mynavi” “Rikunabi” และ “One Career” ครับ โดยเว็บไซต์ “Mynavi” และ “Rikunabi” เราสามารถค้นหาบริษัทแนะนำในแต่ละภาคธุรกิจได้ และยังสามารถสมัครเข้าฟังสัมมนาแนะนำบริษัทและสมัครฝึกงานได้ด้วย ส่วน “One Career” นั้นเราสามารถเข้าไปดูคำถามในอดีตของแต่ละบริษัท รวมถึงประสบการณ์ของรุ่นพี่ เพื่อเอามาปรับใช้กับการหางานของเราได้นะครับ
Mynavi https://job.mynavi.jp/2024/
Rikunabi https://job.rikunabi.com/2024/
One Career https://www.onecareer.jp/
สิ่งที่เตรียมได้ตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาปีต้น
โดยปกติแล้ว การหางานสำหรับนักศึกษาจบใหม่จะเริ่มต้นอย่างจริงจังก่อนจบการศึกษาประมาณ 1 ปีครึ่ง ถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรีก็คือช่วงปี 3 ถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาโทก็คือช่วงปี 1 และนักศึกษาปริญญาเอกก็คือช่วงปี 2 นั่นเองครับ สำหรับนักศึกษาปีต้น ๆ หลายคนอาจมองว่า “ยังเป็นเรื่องไกลตัว ถึงอยากจะเตรียมตัวตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี” แต่จริง ๆ แล้วในการหางานชัยชนะเป็นของคนที่ไวกว่านะครับ เพราะพอจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการหางาน สิ่งที่ต้องทำต่าง ๆ นานาก็จะประดังอัดเข้ามาเต็มแน่นไปหมด ไม่มีเวลาให้เราได้ค่อย ๆ เตรียมตัวเลยนะครับ ผมเลยอยากจะแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่นักศึกษาปีต้นสามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนี้ครับ
1. การเรียนภาษา
โดยทั่วไปแล้ว พอพูดถึงจุดแข็งของนักศึกษานานาชาติเราก็มักจะนึกถึงเรื่องภาษาขึ้นมาก่อน แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้สามารถเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ขึ้นอยู่กับสถาการณ์ครับ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่เก่งภาษาอังกฤษแล้วเข้าไปทำงานบริษัทต่างชาติ ภาษาญี่ปุ่นระดับที่สามารถสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ก็เพียงพอ แต่ถ้าเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นก็จะยากขึ้นนะครับ นอกจากนั้น สำหรับคนที่มองหางานที่ต้องพบปะกับผู้คนเป็นจำนวนมาก เช่น งานฝ่ายขาย ก็จำเป็นต้องมีความสามารถทางภาษาในระดับที่สามารถใช้ทำงานได้ ดังนั้น นักศึกษาปีต้นที่ยังมีเวลา ก็ควรทุ่มเทฝึกฝนทักษะทางภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทักษะทางภาษาของเรากลายเป็นจุดแข็งเวลาหางานได้นะครับ
2. การสอบใบประกาศ
คำถามที่นักศึกษาหลายคนมักจะถามเวลาสมัครงานคือ “ใบประกาศด้านภาษาหรือทักษะอื่น ๆ จำเป็นหรือไม่” หลายบริษัทก็มักจะตอบว่า “ไม่จำเป็น” ครับ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าการมีใบประกาศไว้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะใบประกาศเป็นสิ่งที่ช่วยบอกระดับความสามารถของผู้สมัครคนนั้น ยกตัวอย่างเช่นใบประกาศทักษะทางภาษา เวลาคัดเลือกคนสมัครบริษัทก็จะอยากรู้ว่านักศึกษานานาชาติคนนั้นสามารถพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของตัวเองได้มากน้อยเท่าไหร่ แต่ระยะเวลาสัมภาษณ์นั้นมีจำกัด ไม่สามารถเช็คได้ทั้งหมดจริงมั้ยครับ ดังนั้น หากในใบประวัติของเรามีเขียนระบุใบประกาศที่เรามีไว้ (หากเป็นภาษาญี่ปุ่นก็ได้แก่ JLPT และ BJT เป็นต้น) หลายบริษัทก็จะประเมินเราจากข้อมูลนี้ครับ ดังนั้น ผมจึงแนะนำให้ใช้เวลาในช่วงที่เป็นนักศึกษาปีต้นสอบเอาใบประกาศด้านภาษาระดับสูง ๆ หรือใบประกาศที่เกี่ยวกับงานที่เราอยากทำเอาไว้ครับ
การทดสอบวัดความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น (JLPT)
https://www.jlpt.jp/e/index.html
การทดสอบภาษาญี่ปุ่นเชิงธุรกิจ (BJT)
https://www.kanken.or.jp/bjt/english/
นอกจากนั้น ผมขอแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับใบประกาศอื่น ๆ ที่นักศึกษามักจะสอบกันนอกจากใบประกาศด้านภาษาด้วยนะครับ
อันแรกเลยก็คือใบขับขี่ครับ เป็นใบประกาศที่มักจะจำเป็นสำหรับงานด้านการขาย และหากมีไว้ก็ยังเป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วยน ผมคิดว่าเป็นใบประกาศที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งเลยทีเดียว
นอกจากใบขับขี่ ก็ยังมี IT Passport สำหรับคนที่ต้องการทำงานด้าน IT ส่วนคนที่ต้องการหางานด้านการบัญชี ผมแนะนำให้ลองดู Official Business Skill Test in Book-keeping ครับ นอกจากนั้น ออฟฟิศบริษัทหลายแห่งก็ใช้งาน Microsoft Office ในการทำงาน หากมีใบประกาศ Microsoft Office Specialist(MOS)ติดตัวไว้แล้วละก็ จะช่วยให้ได้รับการประเมินสูงเวลาสมัครงานครับ
IT Passport Examination https://www3.jitec.ipa.go.jp/JitesCbt/index.html
Official Business Skill Test in Book-keeping https://www.kentei.ne.jp/bookkeeping
Microsoft Office Specialist(MOS) https://mos.odyssey-com.co.jp/index.html
3. ฝึกฝนทักษะพื้นฐานของวัยทำงาน
บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเรามีใบประกาศแล้วก็จะสามารถหางานได้ใช่มั้ยครับ แต่จริง ๆ แล้วระบบการรับสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่ในญี่ปุ่นจะเป็นลักษณะการจ้างโดยเล็งถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของผู้สมัคร ซึ่งจะให้ความสำคัญกับบุคลิกของผู้สมัครมากกว่าทักษะที่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทจะพิจารณาว่าผู้สมัครมีบุคลิกที่จะสามารถเป็นคนทำงานที่โดดเด่นได้หรือไม่ เราจึงต้องฝึกฝนทักษะพื้นฐานของคนทำงานเพื่อให้พนักงานบริษัทรุ่นพี่เกิดความรู้สึกว่า “อยากทำงานร่วมกับเรา” แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม หลายคนก็ไม่รู้ว่าจะต้องฝึกฝนตรงจุดไหนใช่มั้ยครับ ผมเลยอยากขอแชร์ประสบการณ์สัก 2 ข้อ
ข้อแรกเลยคือ “ความเป็นตัวของตัวเอง” ซึ่งหมายถึง การที่เรามีสามารถคิด ตัดสินใจด้วยตัวเอง และพร้อมรับผิดชอบในการกระทำของเรา หากเราดูที่หน้าเว็บไซต์การจ้างของของแต่ละบริษัท เราจะเห็นเลยว่าหลายบริษัทต้องการบุคลากรที่ “สามารถดำเนินงานได้ด้วยความรับผิดชอบของตัวเองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง” ทั้งนี้ การจะฝึกฝนความเป็นตัวของตัวเองให้มีมากขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แต่สามารถฝึกได้ด้วยการเพิ่มโอกาสให้ตัวเองได้คิดและตัดสินใจในชีวิตประจำวันมากขึ้น
อีกข้อหนึ่งก็คือ “ทักษะการสื่อสาร” หลายคนอาจจะคิดว่าการพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่วเท่ากับการมีทักษะการสื่อสารที่ดี แต่นี่ไม่ใช่ความคิดที่ถูกนักนะครับ เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ดีเท่าไหร่ แต่ไม่เคยคิดถึงคู่สนทนา ไม่ใส่ใจฟังสิ่งที่คู่สนทนาพูด ก็ไม่เรียกว่าทักษะการสื่อสารสูงครับ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องอารมณ์และจังหวะการพูดเพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวเราเองออกไปอีกด้วย
4. เตรียมประสบการณ์ที่สามารถสร้างความประทับใจได้
พอเข้าสู่กระบวนการหางาน คำถามที่มักจะถูกถามบ่อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นตอนกรอกใบสมัครหรือตอนสัมภาษณ์คือ “ตอนเรียนในมหาวิทยาลัยเคยลงแรงทำอะไรมาบ้าง” นอกจากกรรมการจะถามเกี่ยวกับเรื่องเรียนแล้ว การถามเกี่ยวกับกิจกรรมอื่นจะทำให้มองเห็นบุคลิกของผู้สมัคร ดังนั้นจึงควรเตรียมเรื่องราวประสบการณ์ของเราไว้อย่างน้อย ๆ 2 เรื่องนะครับ
ประการณ์ที่นักศึกษาญี่ปุ่นมักจะหยิบยกขึ้นมาพูดคือ “กิจกรรมชมรม” และ “งานพาร์ทไทม์” ครับ นอกจากนั้น หากเคยทำกิจกรรมอาสาสมัครหรือไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ ก็สามารถเลือกเอาประสบการณ์ที่จะสามารถสร้างความประทับใจได้มากที่สุดขึ้นมาเล่าโดยละเอียดได้ บางทีกรรมการสัมภาษณ์อาจเคยทำกิจกรรมชมรมเดียวกับเรามาก่อนก็เป็นได้ ดังนั้นหากมีโอกาสก็ขอให้ลองเข้าร่วมกิจกรรมชมรมดูนะครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับของคนมาเรียนต่อปริญญาโทที่ญี่ปุ่นหลังจากจบปริญญาตรีที่ประเทศของตัวเองเหมือนผม โอกาสในการทำกิจกรรมชมรมและงานพาร์ทไทม์อาจมีไม่มากนัก อีกทั้งยังมีผลกระทบจาก COVID-19 อีกด้วย ผมแนะนำให้ร้อยเรียงเรื่องราวประสบการณ์ของเราทั้งตอนอยู่ที่ประเทศตัวเองและที่มหาวิทยาลัยปัจจุบัน เพื่อสร้างความประทับใจให้กับกรรมการคัดเลือกอย่างเต็มที่นะครับ
5. การฝึกงาน
ผมมีคำแนะนำสำหรับคนที่คิดว่า “เอาไว้ค่อยฝึกงานตอนขึ้นปี 3” ครับ จริง ๆ แล้วตัวเลือกฝึกงานมีเยอะมากนะครับ แต่ในทางกลับกันเวลาของเรานั้นมีจำกัด ดังนั้นหากเราอยากฝึกงานหลายบริษัท หลายสาขาธุรกิจ เราก็ควรเริ่มตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยปี 1 เลย และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ลองไปฝึกงานในบริษัทสาขาธุรกิจที่เราไม่ได้สนใจดูด้วย การฝึกงานจะทำให้เราได้มีประสบการณ์ในสาขาธุรกิจและบริษัทที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน และสามารถหาบริษัทและประเภทงานที่เหมาะกับเราได้ สำหรับคนที่ยังคงลังเลอยู่ลองเข้าไปอ่านประสบการณ์ของรุ่นพี่ได้ที่บทความ “การฝึกงานเพื่อเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม ~ประสบการณ์การฝึกงานแบบมีค่าตอบแทน~”