การหางานพาร์ทไทม์ของนักศึกษานานาชาติ: การเตรียมตัวและสิ่งสำคัญในการหางาน
2022.09.22
มีนักศึกษานานาชาติจำนวนไม่น้อยที่ทำงานพาร์ทไทม์ในระหว่างเรียนที่ต่างประเทศ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถหางานที่เหมาะกับตัวเองได้นะคะ ในบทความนี้ Study Kyoto จึงนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนักศึกษานานาชาติที่กำลังจะเริ่มหางานพาร์ทไทม์มาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
บทนำ
ก่อนอื่นเลยฉันขอแนะนำตัวเองก่อน ฉันเป็นนักศึกษานานาชาติจากประเทศเวียดนามค่ะ มาอยู่ที่ญี่ปุ่นเข้าปีที่ 4 แล้ว ตอนนี้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Kyoto Koka Women’s University ค่ะ ฉันเองเริ่มทำงานพาร์ทไทม์ตั้งแต่มาญี่ปุ่นได้เพียง 3 เดือน เพราะอยากปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และทำความเข้าใจญี่ปุ่นให้ได้เร็ว ๆ รวมถึงอยากมีรายได้สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วยค่ะ
ปัจจุบันฉันทำงานพาร์ทไทม์อยู่ที่ภัตตาคารบนดาดฟ้าโรงแรมใกล้ ๆ วัดคิโยะมิซุหรือวัดน้ำใส เป็นงานช่วยเตรียมอาหาร ซึ่งการทำงานในภัตตาคารหรูแบบนี้เป็นงานที่ฉันอยากลองทำดูสักครั้ง ตอนแรกที่เริ่มงานฉันค่อนข้างเครียดนะคะ เพราะไม่ค่อยมั่นใจเรื่องการใช้ภาษาสุภาพและการบริการลูกค้า แต่ก็ค่อย ๆ ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้สามารถใช้ภาษาและวิธีการพูดแบบสุภาพ รวมถึงสามารถทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ได้ค่ะ
ก่อนที่จะมาทำงานนี้ฉันก็เคยทำงานพาร์ทไทม์อื่นมาก่อน เลยอยากจะแนะนำข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการหางานของนักศึกษานานาชาติที่กำลังคิดว่าอยากจะหางานพาร์ทไทม์กันค่ะ
1. ก่อนเริ่มหางานพาร์ทไทม์
นักศึกษานานาชาติที่มาเรียนที่ญี่ปุ่นทุกคนจะมีสถานะพำนักเป็น “นักศึกษา” ซึ่งไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ แต่สามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้ โดยจำเป็นต้องขออนุญาตทำ “กิจกรรมนอกสถานะพำนัก” ก่อนที่จะหางานพาร์ทไทม์นะคะ ดังนั้นหากนักศึกษานานาชาติต้องการที่จะหางานพาร์ทไทม์ ก็จะต้องไปที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อทำเรื่องขออนุญาตทำ “กิจกรรมนอกสถานะพำนัก” ก่อน ซึ่งการขออนุญาตนี้สามารถทำได้ 2 วิธี คือทำตั้งแต่ตอนเข้าประเทศ หรือทำที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องถิ่นหลังจากเข้าประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว นักศึกษานานาชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเกียวโตสามารถไปทำเรื่องขออนุญาตได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโอซาก้า สาขาเกียวโตค่ะ
ทั้งนี้ ชั่วโมงทำงานของนักศึกษานานาชาติจะต้องไม่เกิน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ช่วงวันหยุดยาว เช่น ตอนปิดเทอมฤดูร้อน จะสามารถทำได้วันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงค่ะ
2. วิธีการหางานพาร์ทไทม์
การหางานพาร์ทไทม์ทำได้หลายวิธีมากค่ะ แต่วิธีที่ฉันใช้เป็นประจำคือการหางานผ่านแอปพลิเคชันรับสมัครงานที่สามารถจัดการผ่านทางมือถือได้ เว็บไซต์และแอปพลิเคชันรับสมัครงานพาร์ทไทม์มีข้อมูลเกี่ยวกับงานประเภทต่าง ๆ เยอะมากค่ะ เราจึงต้องคิดตั้งแต่เริ่มหางานว่าเราอยากทำงานแบบไหน สำหรับงานพาร์ทไทม์ที่ฉันทำอยู่ตอนนี้ ฉันหาเจอจากแอปพลิเคชัน 3 แอปนี้ค่ะ
TownWork | แอปนี้เป็นแอปที่ฉันใช้บ่อยที่สุดเลยค่ะ มีบริษัทที่รับสมัครงานเยอะมาก และมีข้อมูลเกี่ยวกับการรับสมัครงานพาร์ทไทม์หลากหลายเลยทีเดียว เราสามารถบันทึกรายละเอียดประวัติการค้นหาเอาไว้ และแอปจะคอยส่งข้อมูลแจ้งประกาศรับสมัครงานที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาให้ค่ะ | |
Baitoru | ก่อนสมัครเริ่มสมัครงานเราต้องหาข้อมูลให้แน่นก่อน แอปนี้เราสามารถเก็บประกาศรับสมัครงานที่เราสนใจไว้แล้วนำมาเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาได้ค่ะ ฉันเจองานที่ทำอยู่ตอนนี้จากการค้นคำว่า “ร้านอาหารอิตาเลียน” | |
Mynavi Baito | แอปนี้ทำมาสำหรับนักศึกษานานาชาติ ข้อมูลเรียบง่าย การดีไซน์เข้าใจง่าย และการใช้งานง่ายมากค่ะ สามารถหางานที่รับนักศึกษานานาชาติได้ตามระดับทักษะภาษาญี่ปุ่นเลยค่ะ |
นอกจากเว็บไซต์และแอปหางานแล้ว เรายังสามารถหางานได้ด้วยวิธีอื่นอีกนะคะ เช่น ตามหน้าร้านต่าง ๆ มักจะมีประกาศรับสมัครงานพาร์ทไทม์ติดเอาไว้ ใครที่สนใจสมัครงานที่ร้านนั้นก็สามารถติดต่อไปยังที่เบอร์ติดต่อในประกาศ หรือจะเข้าไปสอบถามกับเจ้าของร้านหรือพนักงานโดยตรงเลยก็ได้นะคะ
การสอบถามข้อมูลจากเพื่อนหรือคนรู้จักก็เป็นอีกทางหนึ่งค่ะ และเอาเข้าจริงแล้ววิธีนี้มีแนวโน้มที่จะได้งานสูงมาก ๆ เลย อีกทั้งยังสามารถขอคำแนะนำที่จำเป็น ๆ จากเพื่อนของเราก่อนเริ่มทำงานได้อีกด้วยนะคะ
นอกจากนั้น ตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นก็มักจะมีมุมที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานพาร์ทไทม์อยู่ด้วยเช่นกัน อย่างที่มหาวิทยาลัยของฉันเองก็จะมีการอัพเดทข้อมูลงานพาร์ทไทม์บนเว็บไซต์ของมหาลัยอยู่เป็นประจำค่ะ
3. ใบประวัติสำหรับการทำงานพาร์ทไทม์
ใบประวัติ (CV หรือ Rirekisho ในภาษาญี่ปุ่น) เป็นเอกสารที่ต้องใช้เวลาสมัครงานพาร์ทไทม์ค่ะ มีขายอยู่ที่มุมเครื่องเขียนในคอมบินิและร้านหนังสือ หรือจะดาวน์โหลดแบบฟอร์มมาจากในอินเตอร์เน็ตก็ใช้ได้เหมือนกัน
อย่างเช่นในกรณีของฉันดาวน์โหลดมาจากเว็บไซต์นี้ค่ะ
https://townwork.net/magazine/knowhow/resume/t_resume/83911/
ทั้งนี้ ที่ญี่ปุ่นมีใบประวัติสำหรับการสมัครงานกับใบประวัติสำหรับงานพาร์ทไทม์ ต้องระวังอย่าใช้สลับกันนะคะ
ต่อไป ฉันจะแนะนำการเขียนใบประวัติและการกรอกข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งหากเขียนด้วยลายมือ โดยปกติแล้วจะใช้ปากกาสีดำเขียนค่ะ
รูปถ่าย เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยในการกรอกใบประวัติ ตอนถ่ายรูปก็ควรระวังเรื่องท่าทาง ตลอดจนเสื้อผ้าหน้าผมให้ดี ๆ ด้วยนะคะ
ชื่อและที่อยู่
ตอนฉันเขียนใบประวัติครั้งแรก ฉันเขียนที่อยู่ผิดค่ะ หลังจากนั้นเวลากรอกที่อยู่ก็จะดูจาก Residence Card ตลอด
ประวัติการศึกษา กรอกตั้งแต่การศึกษาก่อนระดับล่าสุดหนึ่งระดับ
ประวัติการทำงาน หากเคยทำงานพาร์ทไทม์มาก่อนก็กรอกลงไปด้วยนะคะ แต่หากสมัครงานพาร์ทไทม์เป็นครั้งแรก ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็เว้นว่างไว้ได้เลยค่ะ
งานอดิเรกและความสามารถพิเศษ จะเขียนแยกกันก็ได้นะคะ แต่หากเป็นงานอดิเรกและความสามารถพิเศษที่เกี่ยวกับงานพาร์ทไทม์ ก็จะช่วยให้ประวัติของเราน่าสนใจยิ่งขึ้นค่ะ
ความประสงค์ของผู้สมัคร หากไม่ได้มีความต้องการอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถกรอกว่า “ยินดีปฏิบัติตามระเบียบบริษัท” ได้ค่ะ
4. การสัมภาษณ์
ฉันทำเช็คลิสต์สำหรับการสัมภาษณ์ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้พร้อมก่อน และในวันสัมภาษณ์จะได้ไม่ลนลานค่ะ
〇 เสื้อผ้า: แนะนำให้เป็นเสื้อเชิ้ตกับกางเกงเรียบ ๆ ไม่มีลาย และควรหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงขาสั้น กระโปรงสั้น หรือกางเกงขาสามส่วนค่ะ
〇 เวลา สถานที่ และเบอร์โทรศัพท์ของที่สัมภาษณ์: เตรียมจดเอาไว้ให้พร้อม เพื่อให้สามารถติดต่อผู้จ้างงานได้ทันทีในกรณีที่เราต้องไปสายหรือหลงทาง เป็นต้น
〇 เส้นทางและวิธีการเดินทางไปยังสถานที่สัมภาษณ์
〇 ชื่อและตำแหน่งของผู้จ้างงาน
〇 สิ่งที่ต้องนำติดตัวไปด้วย ได้แก่ ใบประวัติ ปากกา อินคัง (ตราประทับ) และสมุดจด
(กล่าวทักทาย → อธิบายรายละเอียดของงาน → การแนะนำตัว → เวลาเข้างานที่เราต้องการ และคำถาม → ประกาศผลการสัมภาษณ์)
การสัมภาษณ์โดยทั่วไปจะเป็นแบบนี้ค่ะ การสัมภาษณ์งานพาร์ทไทม์ไม่เพียงแต่จะดูว่าเราสามารถทำงานในฐานะพนักงานคนหนึ่งได้หรือไม่ แต่ยังดูอีกด้วยว่าเราอยากทำงานนี้จริง ๆ รึป่าวนะคะ
ในกรณีของฉัน ตอนที่สัมภาษณ์มีคำถามตามนี้ค่ะ
- เหตุผลที่มาญี่ปุ่น
- เรียนภาษาญี่ปุ่นมานานเท่าไหร่
- เหตุผลที่สมัครงาน เวลาทำงานที่ต้องการ และจำนวนวันที่ทำได้ต่อสัปดาห์
- สามารถทำงานช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่และโอบ้งได้หรือไม่
- คำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานพาร์ทไทม์ก่อนหน้านี้
หากไม่ค่อยมั่นใจในภาษาญี่ปุ่นของตัวเอง ก็สามารถอ้างอิงคำถามเหล่านี้แล้วฝึกตอบคำถามด้วยตัวเองได้นะคะ เราสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับคำถามสัมภาษณ์งานเพิ่มเติมไต้โดยค้นด้วยคีย์เวิร์ด เช่น “คำถามสัมภาษณ์งานพาร์ทไทม์” และ “ตัวอย่างการสัมภาษณ์งานพาร์ทไทม์” เป็นต้น
นอกจากนั้น หากตอนสัมภาษณ์มีคำถามที่เราไม่เข้าใจ ก็ควรทวนคำถามอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจคำถามก่อนตอบนะคะ การทวนคำถามดีกว่าตอบโดยเข้าใจคำถามผิด และทำให้ผู้จ้างเห็นว่าเรา “ไม่ใช่คนที่ตอบอะไรมั่วซั่ว มีการตรวจสอบก่อน” และหากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจเกี่ยวกับงานที่เราสมัคร ก็สามารถถามได้เลยเช่นกันนะคะ