เกียวโตเป็นเมืองที่ปั่นจักรยานง่ายมากเลยนะ
2021.09.10
3. กฎจราจรและมารยาทในการขี่จักรยาน
3.1 โปรดรักษากฎพื้นฐานในการขี่จักรยาน
กฎการขี่จักรยานในญี่ปุ่นอาจจะแตกต่างจากกฎในประเทศของเพื่อน ๆ นะครับ ก่อนที่จะขี่จักรยานจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้กฎเป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น
・การขี่จักรยานต้องขี่บนเลนจักรยาน (bike lane) กรณีที่ไม่มีเลนจักรยานนั้น จะไม่ขี่บนทางเท้า (โซนคนเดิน) แต่ต้องขี่บนถนน (ท้องถนนเดียวกับรถยนต์) อย่างไรก็ตาม หากเป็นทางเท้าที่มีสัญลักษณ์สำหรับจักรยาน ก็สามารถขี่บนทางเท้านั้นได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับคนเดินก่อน (ต้องขี่ช้า ๆ หรือหยุดเพื่อให้ทางกับคนเดินก่อน)
・การขี่จักรยานต้องขี่ชิดซ้าย
・ในกรณีที่มีสัญลักษณ์ “หยุดชั่วคราว” ต้องหยุดจักรยานก่อน และสำรวจความปลอดภัย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
・การเลี้ยวขวาบนแยกที่มีสัญญาณไฟจราจร ห้ามตีเลี้ยวในไฟแดงเดียวเหมือนกับรถยนต์เป็นอันขาด จักรยานต้องแบ่งการข้ามตามสัญญาณไฟจราจรสองครั้งนะครับ
・การขี่จักรยานกลางคืนต้องเปิดไฟหน้าและไฟท้าย (หรือไฟสะท้อนด้านท้าย)
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกฎบางส่วนนะครับ ยังมีกฎอีกหลายข้อ โดยสามารถเข้าไปเช็คได้ที่เวปไซต์ด้านล่างนี้ครับ
วปไซต์เมืองเกียวโต: กฎจราจรและมารยาท https://kyoto-bicycle.com/pdf/enjoyjitensyalife_english.pdf
เวปไซต์สำนักงานตำรวจเกียวโต: กฎการขี่จักรยาน (คลิปวิดีโอ) http://www.pref.kyoto.jp/net_tv/kesatsu/059.html (ภาษาญี่ปุ่น)
เวปไซต์แนะนำการท่องเที่ยวเกียวโต: คำแนะนำการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในเกียวโต https://kyoto.travel/en/info/transportation/bike.html
นอกจากนี้แล้ว การขี่จักรยานยังจำเป็นต้องเข้าใจสัญลักษณ์จราจรของญี่ปุ่นด้วย เช่น สัญลักษณ์ “เฉพาะคนเดินเท้า” “เลนจักรยาน” “ห้ามจักรยานผ่าน” “หยุดชั่วคราว” “เดินรถทางเดียว” เป็นต้น ซึ่งหากไม่เข้าใจแล้วอาจทำผิดกฎและถูกปรับได้นะครับ จึงจำเป็นต้องระวังมาก ๆ เลยทีเดียว
สัญลักษณ์จราจร https://www.mlit.go.jp/road/sign/sign/douro/ichiran.pdf
3.2 ข้อห้ามในการขี่จักรยานและโทษ
การไม่ปฏิบัติตามป้ายจราจรอาจมีค่าปรับเกิดขึ้น แต่นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีโทษอื่น ๆ สำหรับการขี่จักรยานที่เป็นอันตรายอยู่อีกด้วยนะครับ ซึ่งการขี่จักรยานแบบนี้สามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงห้ามปฏิบัติเป็นอันขาดเลยนะครับ
・ห้ามโทรศัพท์ขณะขี่จักรยาน
・ห้ามใส่หูฟังขณะขี่จักรยาน
・ห้ามขี่จักรยานคู่ขนานกับจักรยานคันอื่น
・ห้ามซ้อนท้าย
・ห้ามกางร่มขณะขี่จักรยาน
・ห้ามขี่จักรยานหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เวปไซต์จังหวัดเกียวโต: กฎสำหรับการขี่จักรยานและโทษ
http://www.pref.kyoto.jp/fukei/foreign/koki_k_t/jitensha/index.html
การจอดจักรยานก็มีกฎเช่นเดียวกันนะครับ หากจอดจักรยานนอกเหนือจากที่ที่อนุญาตให้จอดได้แล้ว ก็จะเป็นการจอดจักรยานผิดกฎจราจร โดยจะถูกยึดจักรยานและถูกปรับครับ การจอดจักรยานผิดกฎนั้นถือเป็นการกีดขวางผู้คนเดินเท้า อย่าจอดเป็นอันขาดเลยนะครับ
หากเราไปซื้อของตามคอมบินิหรือห้างสรรพสินค้า หรือไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร และใกล้ ๆ นั้นมีที่จอดจักรยานอยู่ก็ให้จอดและล๊อคไว้ในที่จอดนั้น การจอดตามที่จอดของคอมบินิหรือห้างสรรพสินค้ามักจะมีเวลากำหนดไว้ ต้องตรวจสอบเวลาจอดให้ดี และไม่จอดเกินเวลานะครับ
ที่จอดจักรยานในเกียวโตส่วนใหญ่จะมีราคาประมาณ 100 เยนครับ เพื่อความปลอดภัยของจักรยานเราและไม่เป็นการกีดขวางผู้อื่น จึงต้องจอดจักรยานของเราในที่ที่ถูกต้องนะครับ
ที่จอดจักรยานในเกียวโตสามารถค้นหาได้ในเวปไซต์ด้านล่างนี้ครับ
เวปไซต์เมืองเกียวโต: ค้นหาที่จอดจักรยาน https://kyoto-bicycle.com/parking
3.3 กรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
ถึงแม้ว่าเราจะขี่จักรยานอย่างระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่หากประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ให้รีบติดต่อไปยังเบอร์ 119 ทันที และให้ย้ายจักรยานไปไว้ในที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางการจราจรนะครับ
และถึงแม้จะเป็นอุบัติเหตุเบา ๆ ก็ตาม เราต้องติดต่อตำรวจที่หมายเลข 110 และรอจนกว่าตำรวจจะมาถึงที่เกิดเหตุครับ
เวปไซต์ Kyoto Safety Navi https://www.pref.kyoto.jp/fukei/foreign/documents/english.pdf
4. การจัดการกับจักรยานที่ไม่ใช้งานแล้ว
ระเบียบการจัดการขยะนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ครับ จักรยานถือเป็นขยะขนาดใหญ่ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทิ้ง การทิ้งสามารถแจ้งได้ที่ “ศูนย์รับขยะขนาดใหญ่ของเกียวโต” ซึ่งศูนย์จะสอบถามข้อมูลของผู้ทิ้ง (ได้แก่ ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ประเภทขยะหรือจักรยานของเรานั่นเอง) และจะแจ้งวันเวลา สถานที่ทิ้ง รวมทั้งขั้นตอนการทิ้งให้เราครับ ซึ่งเราก็สามารถเตรียมตัวได้ตามนั้นเลย
・วันเวลาทิ้ง: โดยประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากแจ้งลงทะเบียนทิ้ง และต้องนำจักรยานที่จะทิ้งไปวางไว้ตรงจุดที่กำหนดไว้ก่อน 8 โมงเช้าของวันเก็บขยะที่ได้รับแจ้ง
・ค่าใช้จ่าย: ค่าจัดการขยะ (จักรยาน) ประมาณ 800 เยน (ณ เดือนสิงหาคม 2021) ชำระโดยการซื้อ “ตั๋วจัดการขยะขนาดใหญ่” ซึ่งมีขายอยู่ตามคอมบินิและสำนักงานเขต โดยเมื่อซื้อ “ตั๋วจัดการขยะขนาดใหญ่” มาแล้ว ก็กรอกข้อมูลให้เรียบร้อยแล้วนำไปติดไว้ที่ขยะ (จักรยาน) ก่อนนำไปทิ้งครับ
ค่าจัดการขยะขนาดใหญ่
https://www.city.kyoto.lg.jp/kankyo/page/0000001329.html
https://www.city.kyoto.lg.jp/kankyo/page/0000001317.html
นอกจากนี้ เราอาจจะขายหรือส่งต่อจักรยานเก่าให้กับคนอื่น ซึ่งการขายหรือยกให้คนอื่นนั้น จะต้องส่งสำเนา “บัตรลงทะเบียนป้องกันการขโมยจักรยาน” ให้กับผู้รับตามที่เขียนไว้ในข้อ 1.3 ด้วยนะครับ เพราะผู้รับจะต้องเอาสำเนาเอกสารดังกล่าวไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อเจ้าของและลงทะเบียน “บัตรลงทะเบียนป้องกันการขโมยจักรยาน” ใหม่ จึงห้ามลืมเป็นอันขาดเลยนะครับ
บทส่งท้าย
เมื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อจักรยาน การใช้จักรยานอย่างปลอดภัย กฎจราจร ตลอดจนกฎการขี่จักรยานกันแล้ว เพื่อนๆ ลองมาเพลิดเพลินกับการขี่จักรยานเที่ยววนชมสถานที่ท่องเที่ยวของเกียวโตที่สวยงามน่าสนใจอย่าง “อาราชิยามะ” “วัดคิโยมิสึ” “ศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ” “ปราสาทนิโจ” “วัดทอง” และ “วัดเงิน” กันดูนะครับ
ผู้เขียน: le kim yen มหาวิทยาลัยลัยสตรีเกียวโตนอเทรอดาม (Kyoto Notre Dame University)