การเรียน MBA ภาคภาษาอังกฤษในเกียวโต: ภาคมหาวิทยาลัย
2021.08.24
การใช้ชีวิตในเกียวโตของนักศึกษา MBA เป็นอย่างไร
ในบทความนี้ Study Kyoto ได้พูดคุยกับคุณ Nam Tran ซึ่งสำเร็จการศึกษาหลักสูตร MBA จากมหาวิทยาลัยริทสึเมคัง ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการผลิตวิดีทัศน์ซึ่งเป็นกิจการที่คุณ Nam ได้ก่อตั้งตั้งแต่สมัยยังอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่น
คุณ Nam Tran (เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย)
แรงบันดาลใจของแต่ละคนที่มาญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เลือกมาเมืองหลวงเก่าอย่างเกียวโต คุณ Nam มีโอกาสได้มาเยือนญี่ปุ่นตอนที่เขาอยู่มหาวิทยาลัยและเข้าร่วมโปรเจกต์ ๆ หนึ่ง และหลังจากนั้นเขาได้มาที่ญี่ปุ่นอีกครั้งโดยโครงการ Working Holiday คุณ Nam ได้ทำงานอยู่ที่จังหวัดฟุคุอิเป็นเวลา 5 ปี เป็นที่ที่เขาได้เริ่มใช้ชีวิตในญี่ปุ่นในเมืองที่แตกต่างไปจากเกียวโต ในระหว่างที่เขาอยู่ที่ฟุคุอินั้น คุณ Nam ได้เริ่มทำวิดีโอแนะนำการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นให้กับเพื่อน ๆ ที่ประเทศของเขา และการผลิตวิดีโอนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้คุณ Nam มาที่เกียวโต
อย่างไรก็ตาม Study Kyoto ขอยกรายละเอียดเกี่ยวกับจุดพลิกผันที่ทำให้คุณ Nam มาเกียวโตไปไว้ในบทความส่วนที่สอง “ภาคเริ่มกิจการ” ทุกคนอย่าลืมตามไปอ่านกันนะครับ
ส่วนตอนนี้ เรามาฟังประสบการณ์เกี่ยวกับ MBA ของคุณ Nam กันก่อนเลยครับ
พิธีปฐมนิเทศนักศึกษาแรกเข้ามหาวิทยาลัยโดชิชะ
ถาม: ทำไมคุณ Nam ถึงตัดสินใจเรียน MBA ครับ และทำไมถึงเลือกมหาวิทยาลัยโดชิชะ
ตอบ: “ก่อนเริ่มเรียน MBA ผมอยู่ที่ฟุคุอิและได้รับงานฟรีแลนซ์ถ่ายทำวิดีโอหลายงาน ส่วนใหญ่เป็นงานของสำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ และบริษัทผลิตงานฝีมือโบราณท้องถิ่นที่ต้องการขยายธุรกิจ ซึ่งการขยายธุรกิจนี้เป็นเรื่องสากลมาก ๆ ครับ ผมจึงเริ่มมองเห็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโอกาสที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมที่ผมชื่นชอบ ผมจึงไม่อยากปล่อยมือครับ”
“เพื่อนของผมแนะนำหลักสูตรของมหาวิทยาลัยโดชิชะ ตัวผมเองก็อยากจะไปเกียวโตอยู่แล้ว และผมมองว่าหลักสูตร MBA น่าจะเป็นโอกาสให้ผมได้พบกับผู้คนด้วยครับ”
ถึงแม้ว่าคุณ Nam จะมีเครือข่ายเล็ก ๆ อยู่แล้วที่ฟุคุอิ แต่เขาบอกว่า เขาต้องการพบกับผู้คนมากขึ้นอีก เพื่อที่จะได้มีโอกาสเข้ามามากขึ้น ทำให้เขาตัดสินใจเรียน MBA “ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์เรื่องงานนะครับ แต่ผมอยากสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมคลาส และเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย” คุณ Nam ได้สมัครหลักสูตร MBA และสำเร็จการศึกษาพร้อม ๆ กับเพื่อนของเขาที่เขาบอกว่า “เพราะเพื่อนนี่แหละที่ทำให้สนุกขึ้น”
“ผมมีเพื่อนหลายคนจากฟุคุอิที่เข้าเรียน MBA ก่อนผม พวกเราพอจะรู้จักหลักสูตรอยู่บ้างคร่าว ๆ และการรู้จักเนื้อหาของหลักสูตรผ่านเพื่อน ๆ เหล่านี้เองทำให้ผมคิดว่านี่แหละเป็นหลักสูตรที่ผมต้องการ”
โดดเด่นทั้งในห้องเรียน MBA และนอกห้องเรียน
เช่นเดียวกับการเรียนวิชาอื่น ๆ ความรู้เกี่ยวกับ MBA นั้นมีอยู่ทั้งในและนอกชั้นเรียน แน่นอนว่าในชั้นเรียนนั้น เนื้อหาก็อัดแน่นไปด้วยการเรียนเกี่ยวกับการบัญชี กลยุทธ์การบริหารธุรกิจ และการเงิน แต่นอกจากนั้นแล้ว ผู้เรียนยังได้อะไรอีกมากมายหลายหลากจากคอนเนคชั่นที่เกิดจากการเรียน MBA
คุณ Nam ได้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวให้เราฟังว่า “แรกเลยทีเดียว ผมก็ไม่รู้ว่าการผลิตวิดีโอของผมจะสามารถทำอะไรที่เกียวโตได้บ้าง และผมก็เริ่มที่จะมองไปยังการสมัครงาน ผมได้ยินมาบ่อย ๆ ว่าถ้าเราสามารถทำผลการเรียนได้ดี เป็นที่ยอมรับของอาจารย์ อาจารย์ก็จะแนะนำเราไปในทางที่เหมาะสม และดูเหมือนว่าหลาย ๆ คนน่าจะมาดหมายในเส้นทางนี้ แต่ผมคิดว่าผมไม่น่าจะสู้พวกเขาได้ครับ ผมจึงหันมาเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตวิดีทัศน์เป็นของตัวเอง และเริ่มทำความรู้จักกับผู้คนที่จะให้คำชี้แนะกับเราได้”
“ผมคุ้นเคยสนิทสนมกับอาจารย์หลายท่าน แต่เป็นวิธีที่ต่างจากนักศึกษาคนอื่น ๆ ผมอยากทำโปรเจกต์ที่บริษัทท้องถิ่นมีส่วนร่วม จึงได้เลือกลงทะเบียนเรียนวิชาที่มีการทำโปรเจกต์ดังกล่าวครับ”
ถาม: หลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยโดชิชะเป็นยังไง และสิ่งที่คุณ Nam คิดว่ามีประโยชน์และเป็นที่น่าจดจำมากที่สุดคืออะไรครับ
ตอบ: “ผมรู้สึกว่าการที่ได้ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่นนั้นสนุกมากครับ หลาย ๆ อย่างต้องเรียนจากตำราก็จริง แต่ผมคิดว่าการเรียนที่โดชิชะนั้นหลายอย่างมาจากเคสที่เกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งผมคิดว่าดีมาก ๆ ครับ ยกตัวอย่างเช่นการเรียนวิชาการตลาด ก็มีผู้บริหารของบริษัทคิทแคทมาบรรยายกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงให้ฟัง จากบริษัทแอปเปิ้ลก็มีนะครับ ซึ่งบริษัทที่มาบรรยายเหล่านี้ล้วนมาจากคอนเนคชั่นของอาจารย์ที่นี่ทั้งสิ้น บางครั้งก็เป็นเพียงการบรรยายสั้น ๆ ที่ใครก็เข้าฟังได้ แต่บางทีก็เป็นเวิร์คชอปแบบบูรณาการ ที่นักเรียนร่วมกับแต่ละบริษัทซึ่งมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ต่างกันออกไป เพื่อที่จะฝึกฝนการแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกับพนักงานบริษัทคนหนึ่งเลยครับ”
“ผมพยายามเอาวิดีโอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ในแต่ละรายวิชา เช่น กลุ่มของผมได้ร่วมมือกับบริษัทผลิตเครื่องปั้นดินเผา Kiyomizuyaki ผมก็ทำวิดีโอแนะนำการผลิตเครื่องปั้นดินเผา Kiyomizuyaki ขึ้นมาครับ และในการนำเสนอผลงานครั้งสุดท้าย บริษัทอื่น ๆ และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในห้องเดียวกันนั้น ก็ได้รับชมวิดีโอของผมด้วย”
หลังจบการนำเสนอผลงาน นักศึกษากับผู้แทนบริษัทก็ได้ร่วมปาร์ตี้ฉลองความสำเร็จกันครับ “ที่งานเลี้ยงนี้เอง ที่ผมได้พบกับสปอนเซอร์จากบริษัทที่ร่วมทำงานกับนักศึกษาทีมอื่น เขาเป็นผู้ผลิตเบาะรองนั่งพื้น zabuton รุ่นที่ 3 ซึ่งได้รับชมวิดีโอนำเสนอผลงานของพวกเรา พวกเรารู้สึกเข้ากันได้อย่างน่าประหลาดเลยทีเดียวครับ เขาบอกกับผมว่า มาทำวิดีโอด้วยกันเถอะนะ และถึงตอนนี้พวกเราก็ยังติดต่อกันอยู่นะครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมยังพึ่งตัดต่อวิดีโอให้เขาอยู่เลย” ในการเรียนหลักสูตร MBA นั้น โอกาสที่ดีที่สุดบางทีอาจได้มาโดยวิธีที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้นะครับ
“การเรียนที่อยู่บนความเป็นจริงแบบนี้แหละครับที่ประทับใจผมมากที่สุด และอีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือผู้คนที่ผมได้พบเจอครับ ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเพื่อนร่วมชั้นจะมีคุณค่ากับผมมากมายขนาดนี้ การได้พบกับเพื่อน ๆ ผ่านการทำโปรเจกต์ร่วมกันนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดสำหรับผมในการเข้าหลักสูตรครั้งนี้เลยทีเดียวครับ”
คุณ Nam เป็นตัวอย่างของนักศึกษา MBA ที่ได้สะสมประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายผ่านการเรียนในหลักสูตรครับ การก้าวข้ามกรอบความหมายของ “การเรียน” และ “มหาวิทยาลัย” ได้สัมผัสกับผู้คนที่หลากหลาย สร้าง “ต้นทุน” สำหรับอนาคต เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าอย่างมากเลยทีเดียวจริงมั้ยครับ ระหว่างที่เป็นนักศึกษาอยู่ที่เกียวโต คุณ Nam ได้ตัดสินใจเริ่มกิจการของตัวเอง โดยในบทความส่วนที่สอง : ภาคเริ่มกิจการ เราจะไปลงรายละเอียดถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณ Nam มาที่เกียวโต และรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของคุณ Nam กันครับ