เทคนิคที่นักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัวใช้ในการเตรียมตัวเพื่อชิงทุนการศึกษา
2020.11.19
วิธีการชิงทุนการศึกษา : การเพิ่มผลการเรียน
1. การฝึกการจดบันทึกเนื้อหาในชั้นเรียน
โดยพื้นฐานเลย ต้องเริ่มจากการหาวิธีการจดบันทึกที่เหมาะกับตัวเองครับ และถ้าอาจารย์อนุญาตให้อัดบันทึกเสียงได้ ก็ควรอัดเอาไว้นะครับ เพราะจะช่วยให้เวลาที่อาจารย์พูดเกี่ยวกับประเด็นที่ออกข้อสอบขึ้นมากะทันหัน เราก็จะสามารถทำความเข้าใจประเด็นใหญ่ ๆ และนำมาฝึกฝนได้ ปกติผมใช้เวลา 2 สัปดาห์ก่อนสอบ นำประเด็นที่จดบันทึกไว้มารวมทำเป็นโน้ตเพื่อนอ่านสอบครับ
2.การสร้างความไว้วางใจกับอาจารย์โดยการถามคำถามอย่างแอคทีฟ
หมั่นคอยถามคำถามกับอาจารย์ผู้สอนในชั้นเรียน หรือนอกชั้นเรียนครับ (คำถามง่าย ๆ ก็ได้ครับ) นักเรียนต่างชาติมักจะได้รับความสนใจจากอาจารย์ง่ายกว่านักเรียนญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งสามารถกลายมาเป็นคะแนนจิตพิสัยได้ด้วย และยิ่งเราหมั่นถามคำถามบ่อย ๆ คำถามของเราก็จะมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้ได้รับฟีดแบคที่ดีมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อได้รับใบประเมินการเรียนการสอนมา ก็ควรเขียนความคิดเห็นลงไปอย่างตั้งใจด้วยนะครับ
3.ใช้ประโยชน์จากคอมมูนิตี้ต่าง ๆ ให้มากที่สุด
ผมแนะนำว่าควรจะมีทั้งคอมมูนิตี้นักเรียนชาวญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัย และคอมมูนินี้นักศึกษาชาวต่างชาติครับ เพื่อนคนญี่ปุ่นจะช่วยดูไวยากรณ์ คำศัพท์ หรือโครงสร้างประโยคให้เราได้ ในขณะที่เพื่อนนักเรียนชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคอมมูนิตี้ของนักเรียนชาติเดียวกันจะมีการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเงินทุนจากมูลนิธิต่าง ๆ เงินประกัน เงินช่วยเหลือต่าง ๆ ทำให้เราได้รับข้อมูลได้ง่าย ๆ เป็นโอกาสในการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตด้วยครับ
4.หากเป็นไปได้ แนะนำให้นั่งเรียนแถวหน้าสุด
นอกจากการนั่งเรียนแถวหน้าสุดจะช่วยให้เรามีสมาธิในการเรีนแล้ว ยังช่วยให้เราสังเกตน้ำเสียงและท่าทางของอาจารย์ได้ ซึ่งจะช่วยให้จับประเด็นสำคัญได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้อาจารย์จดจำได้ง่ายขึ้นด้วย จึงควรเลือกที่นั่งเรียนแถวหน้านะครับ
สิ่งเหล่านี้น่าจะเรียกว่าเป็นวิธีการเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่อตัวเองเสียมากกว่าเป็นวิธีการอ่านหนังสือเตรียมตัวนะครับ ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนน่าจะทราบดีอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าหากเราใช้ 4 วิธีการนี้อย่างเต็มที่ ก็จะทำให้เรามีวิธีการเรียนที่ลุ่มลึกมากขึ้นได้ครับ
ส่วนวิธีการเรียน การอ่านหนังสือเตรียมตัวนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละคนมากที่สุด จึงอยากให้ทุกคนมั่นใจและมุ่งมั่นก้าวไปข้างหน้าครับ ส่วนวิธีการเตรียมตัวของผมก็จะขอแนะนำไว้ด้านล่างนี้ด้วยครับ
คำแนะนำในการอ่านหนังสือ
A) นำโน้ตที่จดเนื้อหาในห้องเรียนมาเขียนเป็นโน้ตสรุปอีกครั้ง แล้วทดลองฝึกทำโจทย์
ปกติผมจะไม่ได้จดโน้ตในห้องเรียนอย่างประณีตสวยงามมาก แต่จะมาทำโน้ตสรุปอีกครั้งนึงครับ การทำโน้ตสรุปก่อนสอบ 2 สัปดาห์ช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจสิ่งที่อาจารย์สอน หรือจุดที่เน้นย้ำ โดยผมจะ “เน้น” เอาเนื้อหาส่วนนั้นเขียนออกมาใหม่อีกรอบนึงครับ
การที่ทำโน้ตอีกรอบนั้น นอกจากจะช่วยให้เราได้ทบทวนเนื้อหาที่เรียนมาไปด้วยในตัวแล้ว ก็ยังช่วยให้เห็นประเด็นสำคัญในคาบเรียน ทำให้ฝึกฝนได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นการทำ “โน้ตของเรา” ทำให้เกิด “ความเอาใจใส่” กลายเป็นแรงผลักดันให้ตั้งใจอ่านมากขึ้น โดยเทคนิคเพิ่มเติมสำคัญในการทำโน้ตของผมก็คือ การเขียน “กรอบ” ล้อมรอบเนื้อหาส่วนพิเศษที่มีอยู่ในหนังสือเรียนหรือในชีท ซึ่งทำให้โน้ตของเราอ่านง่ายขึ้น ทุกคนลองทำตามดูได้นะครับ
B) ส่วนที่ไม่เข้าใจ ให้ค้นคว้าเอกสารเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ตมาศึกษา
วิธีนี้เหมาะอย่างยิ่งกับการทำข้อสอบบรรยายครับ ผมมักจะค้นหาเอกสารจำพวก “ประวัติศาสตร์” ซึ่งมักจะมีเอกสารที่สรุปไว้ได้ดีเยอะมากครับ และมีเอกสารที่เป็นภาษาเกาหลีที่สามารถอ้างอิงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อควรระวังคือ เอกสารจากอินเตอร์เน็ตบางครั้งมีความน่าเชื่อถือน้อย จึงจำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือที่ใช้ในชั้นเรียนหรือเอกสารอ้างอิงอื่น ๆ ด้วยนะครับ วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เราสามารถคิดเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนเดียวกันในหลาย ๆ ด้านได้ และช่วยให้เราจำได้ง่ายขึ้นด้วยครับ
ทัศนคติสำคัญในการชิงทุน : เริ่มต้นจากความเชื่อมั่นในตัวเอง
ผมเองตอนแรกก็เคยมีความคิดว่า “อย่างผมเนี่ยนะ” คงไม่สามารถสอบชิงทุนได้หรอก แต่ตอนนี้ผมคิดว่าการที่เราได้ท้าทายความสามารถจนกระทั่ง “มาเรียนต่างประเทศ” ได้แล้วนั้น การจะลองท้าทาย “ทุนการศึกษา” ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป และผลของการที่ผมเชื่อมั่นในตัวเองก็ทำให้ผมสามารถคว้า “ทุนการศึกษา” มาได้ครับ
ผมอยากให้ทุกคนเริ่มจากเชื่อมั่นในตัวเองแล้วลองชิงทุนดูครับ นึกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอันแรงกล้าที่เราได้จากประเทศบ้านเกิดมาที่ญี่ปุ่น ผมคิดว่าทุกคนต้องได้ผลลัพธ์ที่ดีแน่นอนครับ สุดท้ายนี้ เมื่อพูดถึงทุนการศึกษา อาจไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการลองท้าทายที่มีความหมายรวมถึง การสร้าง “ความสัมพันธ์” และการเรียนรู้ “วิธีคิดของผู้คนที่หลากหลาย” เพื่อ “การเรียนของตัวเราเอง” อีกด้วย
ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนบ้างแม้เพียงเล็กน้อย และผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนด้วยนะครับ
(เรื่อง นา ซอกจุน/ มหาวิทยาลัยริทสึเมคัง)