อยู่ร่วมกับ COVID-19: ชีวิตนักศึกษาต่างชาติในเกียวโตหลังประกาศภาวะฉุกเฉิน โดย
2020.10.13
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อเดือนเมษายน 2020 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งออกประกาศห้ามเข้าเขตพื้นที่มหาวิทยาลัย ส่งผลกระทบกับนักศึกษาต่างชาติอย่างพวกเราเป็นอย่างมาก ผมเองตอนนั้นก็พึ่งมาญี่ปุ่นได้ยังไม่ถึงหนึ่งเดือนเลยครับ ยังไม่ทันคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยเลย แต่ก็ต้องมาใช้ชีวิตสเตย์โฮมซะแล้ว
การดำเนินชีวิตรูปแบบสเตย์โฮมเช่นนี้ ทำให้แทบจะไม่มีที่ไหนรับนักศึกษาทำงานพาร์ทไทม์เลย การหารายได้ด้วยตนเองเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องยากมากเลยครับ ยิ่งไปกว่านั้นการที่เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ คาบเรียนต่าง ๆ เปลี่ยนมาสอนออนไลน์ผ่านกล้องวิดีโอ อีกทั้งยังไม่สามารถใช้บริการห้องสมุดได้ ทำให้การค้นหาเอกสารเพื่อใช้ในการทำงานวิจัยของผมนั้นค่อนข้างลำบากมากเลยทีเดียว
อาจฟังดูเหมือนเป็นสถานการณ์ที่สิ้นหวังนะครับ แต่ผมคิดว่ามนุษย์เรามีความสามารถในการหาทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์แบบนี้ได้เสมอ อีกทั้งรัฐบาล มหาวิทยาลัย และหน่วยงานสนับสนุนนักศึกษาต่างก็มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมากมาย ถึงแม้ว่าตอนนี้รัฐบาลจะยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วก็ตาม แต่ผมคิดว่าชีวิตในช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ได้มีประสบการณ์พิเศษไม่น้อย ในบทความนี้ผมจึงอยากจะมาแบ่งปันประสบการณ์ “การใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19” ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาและนักเรียนต่างชาติครับ
ชีวิตนักศึกษาในยุค COVID-19
ปีนี้มหาวิทยาลัยของผมไม่อนุญาตให้เข้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาใหม่อย่างพวกเราไม่สามารถไปเข้าเรียนที่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัยได้ ต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่เป็นรูปแบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถสนุกกับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้เต็มที่ แต่การเรียนในรูปแบบออนไลน์ก็มีข้อดีหลายอย่างที่ผมจะขอยกตัวอย่างในบทความนี้ครับ
อย่างแรกเลยก็คือ เราสามารถเรียนไปด้วย และใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นสิ่งที่เราไม่เข้าใจไปพร้อมกันด้วยได้ครับ ซึ่งตรงนี้ต่างกับเวลาเรียนในห้องเรียนเลย เพราะถ้าหากเราไม่ได้ตั้งค่าแชร์หน้าจอแล้ว คนในห้องเรียนก็จะไม่เห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเรา ดังนั้น เวลาเราใช้โทรศัพท์มือถือค้นหาสิ่งต่าง ๆ ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ ก็จะไม่ถูกมองว่ากำลังเล่นมือถืออยู่ และการที่เราเรียนไปด้วยและสามารถใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาคำศัพท์ที่เราไม่เข้าใจหรือเรื่องที่เราสนใจเพิ่มเติมได้นั้น ช่วยให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา : beauty-box จาก photo-ac
ประเด็นต่อมา การที่มหาวิทยาลัยปิดนั้น สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับนักศึกษาที่ต้องทำงานวิจัยก็คือการหาเอกสารสำหรับงานวิจัย ผมคิดว่าผู้อ่านบทความทุกคนน่าจะทราบดีว่าคลังหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยนั้นมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนักศึกษา ไม่ว่าจะในการทำรายงาน การทบทวนวรรณกรรม การเขียนวิทยานิพนธ์ หรือแม้กระทั่งการค้นคว้าวิจัยในแต่ละวัน แต่เมื่อมีข้อจำกัดในการเข้ามหาวิทยาลัยเกิดขึ้น การใช้บริการห้องสมุดก็ยากขึ้นไปด้วย นักศึกษาจำเป็นต้องกรอกเอกสารเพื่อขออนุญาตใช้บริการห้องสมุดเสียก่อน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ไม่สามารถยืมเอกสารสำคัญในการวิจัยด้านประวัติศาสตร์ออกมาได้ แต่โชคดีที่หอสมุดแห่งชาติญี่ปุ่น (National Diet Library) มีคอลเลกชันดิจิทัล หนังสือหลายเล่มสามารถอ่านผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้
และที่สำคัญเอกสารออนไลน์เหล่านี้สามารถอ่านได้ฟรีครับ นอกจากนี้ ก็ยังมีร้านหนังสือเก่าที่บางทีก็จะนำหนังสือมีประโยชน์มาขายในราคา 100 – 200 เยน ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากจนน่าตกใจ ถ้าเราใช้ประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ช่วงสั้น ๆ นี้ได้ และสามารถทำงานวิจัยของเราต่อไปได้ครับ
วิธีการหารายได้สำหรับการเรียนในต่างประเทศ
การไม่สามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้นั้น ถือเป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ใช่นักศึกษาต่างชาติที่มีเงินเก็บเป็นจำนวนมาก หรือมีครอบครัวที่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่ได้แล้ว นักศึกษาต่างชาติที่ไม่สามารถหารายได้ด้วยตนเองได้จะใช้ชีวิตลำบากมาก และอาจต้องเป็นภาระให้กับครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศ
แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น มหาวิทยาลัย รวมถึงองค์กรช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาต่าง ๆ ก็ได้จัดเงินช่วยเหลือทั้งในรูปแบบให้เปล่าและกู้ยืม อย่างมหาวิทยาลัยโดชิชะที่ผมเรียนอยู่นี้ ก็มีทั้งเงินทุนและเงินช่วยเหลือสำหรับนักศึกษาต่างชาติกว่าสิบรูปแบบ
นอกจากนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ออกมาตรการเงินช่วยเหลือพิเศษตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งนักศึกษาต่างชาติที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้อยู่อาศัยในญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2020 ก็สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวได้ ผมเองก็ได้ใช้เงินช่วยเหลือเหล่านี้ข้ามผ่านสถานการณ์ที่ค่อนข้างบีบรัดในช่วงเทอมแรกมาได้ครับ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือในลักษณะนี้ ต้องหมั่นคอยตรวจสอบดูที่เวปไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยหรือองค์กรช่วยเหลือนักศึกษาด้วยนะครับ