บทความพิเศษเกี่ยวกับคัลเจอร์ช็อค ครั้งที่ 2: ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับต่างชาติจากประสบการณ์ของนักศึกษานานาชาติ
2018.11.26
ช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลาเล่น
อดิคา: ตอนที่ผมมาญี่ปุ่นใหม่ ๆ คนที่นี่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเวลามาก เลยค่อนข้างลำบากครับ
แคทรีนา: ฉันคิดว่านักศึกษาค่อนข้างที่จะไม่เคร่งครัดกับเรื่องเวลามากนักนะคะ จะเห็นได้ว่ามีหลายคนเลยที่กว่าจะลุกออกจากเตียงก็สายแล้ว
อดิคา: จริงด้วยครับ นักศึกษามหาวิทยาลัยนี่ใช้เวลากันอย่างเหลือเฟือเลยทีเดียวนะครับ
แคทรีนา: ฉันเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะว่านี่อาจจะเป็นเหตุผลนึงรึเปล่า เพราะนักเรียนญี่ปุ่นต้องทำตามกฎระเบียบต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนประถมและมัธยม พอเข้าบริษัทแล้วก็มีกฎระเบียบอีกมากมาย เลยทำให้ช่วงเวลาในมหาวิทยาลัยกลายมาเป็นช่วงเวลาเพียงช่วงเดียวที่ได้พักหายใจก็เป็นได้นะคะ ฉันรู้สึกว่าเพื่อน ๆ ของฉันเป็นแบบนั้นค่ะ แน่นอนว่ามีนักศึกษาญี่ปุ่นอีกส่วนที่ตั้งใจเรียนมาก ๆ แต่ก็มีนักศึกษาอีกส่วนที่เอาแต่นอนทั้งวันก็เป็นความจริงอีกด้านนึงเช่นกัน
อดิคา: (หัวเราะ) จริงด้วยครับ ผมเจอนักศึกษาแบบนั้นที่มหาวิทยาลัยหลายคนเลยครับ ทำให้รู้สึกว่าพวกเขามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นที่ที่เอาไว้หาความสนุกนะครับ
เชาเจีย: ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมีแค่ 4 ปีเท่านั้น ทุกคนเลยอาจจะค่อนข้างสบาย ๆ กับช่วงเวลาที่แต่ละคนมีก็เป็นไปได้นะคะ ฉันคิดว่าชีวิตมหาวิทยาลัยที่จีนแย่กว่านี้มากค่ะ มีนักศึกษาจำนวนมากที่เอาแต่เล่มเกมส์ ไม่สนใจทำอย่างอื่นเลย ฉันคิดว่านักศึกษาแบบนี้มีมากกว่าที่ญี่ปุ่นนะคะ
แคทรีนา: โรงเรียนที่อเมริกาก็มีนักเรียนขี้เกียจค่ะ แต่รู้สึกว่าที่ญี่ปุ่นจะมีเยอะกว่า
เชาเจีย: การศึกษาที่จีนตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัยค่อนข้างเข้มงวดมากจนไม่มีเวลาหาความสนุกเลยค่ะ พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ต้องแยกจากพ่อแม่มาใช้ชีวิตอยู่เองตัวคนเดียวและเริ่มทำอะไรที่ตัวเองอยากทำได้ตามใจ ทำให้หลายคนคิดว่าจะทำสิ่งที่ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ทุกอย่างในยกเดียว เรื่องความรักที่จีนก็เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ เพราะก่อนเข้ามหาวิทยาลัย วัยรุ่นที่จีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ออกเดทหรือคบหากัน
แคทรีนา: แต่ฉันได้ยินมาว่าที่ญี่ปุ่น ชมรมหลายชมรมห้ามมีความรักด้วยนะคะ
เชาเจีย: จริงด้วยค่ะ ที่จีน พอเข้ามหาวิทยาลัยปุ๊บก็ได้รับอนุญาตให้ออกเดทได้ ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดี ราวกับว่าอยู่ ๆ ก็กลายเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาในทันใด โดยที่ยังไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย ความรักคืออะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ในแง่นึง ฉันก็คิดว่านี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าอายอยู่นะคะ ทุกคนรู้จักหนังสำหรับวัยรุ่นญี่ปุ่นใช่มั้ยคะ หนังที่เกี่ยวกับการตกหลุมรักของนักเรียนมัธยมปลาย วัยรุ่นจีนหลายคนก็วาดฝันไว้ว่าจะได้มีความรักแบบในหนังเหล่านั้นค่ะ
แคทรีนา: เพื่อนคนญี่ปุ่นของฉันหลายคนก็เป็นแบบนั้นค่ะ หลายคนเรียนโรงเรียนมัธยมชายล้วน หรือโรงเรียนหญิงล้วนมาก่อน พอดูหนังหรือละครรักโรแมนติกที่มีฉากโรงเรียนมัธยมมาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถมีความรักแบบนั้นได้จริง พอเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็เลยอยากทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาน่ะค่ะ
อดิคา: บริบทที่อินโดนีเซียอาจจะต่างไปสักหน่อยนะครับ เพราะช่วงมัธยมปลายจะเป็นช่วงเวลาที่สนุกและมีอิสระมากที่สุด จริง ๆ ก่อนเข้ามัธยมปลายก็ไม่ถึงกับเข้มงวดมากเป็นพิเศษหรอกครับ เพียงแต่ว่าที่โรงเรียนมัธยมนั้นไม่ต้องสนใจอะไรมากนัก ทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ครึกครื้นมากที่สุดในวัยเด็กครับ ตรงกันข้ามการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างมีผลต่ออนาคตเป็นอย่างมาก ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยค่อนข้างจริงจังกับการเรียนครับ แล้วทุกคนก็รอช่วงวันหยุดเพื่อที่จะกลับไปพักผ่อนที่บ้านครับ
พัฒนา: ส่วนคนไทยนั้น จริง ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตสนุกทั้งในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยนะครับ (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าช่วงไหนที่เข้มงวดมากกว่าก็คงต้องบอกว่าเป็นช่วงมัธยมปลายครับ คล้าย ๆ กับที่จีน พอเข้ามหาวิทยาลัยออกมาใช้ชีวิตแยกจากพ่อแม่แล้วก็มีอิสระมากขึ้น
อีเวนท์ในโรงเรียน
โรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นมักจะจัดอีเวนท์ตามฤดูกาลต่าง ๆ เช่น การแข่งขันกีฬาหรืองานแสดงวัฒนธรรมในฤดูใบไม้ร่วง การแข่งมาราธอนในฤดูหนาว ซึ่งสำหรับนักศึกษานานาชาติแล้วอีเวนท์เหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พบเห็นสักเท่าไหร่
แคทรีนา: ที่โรงเรียนของฉันมีการแข่งพูดสุนทรพจน์ค่ะ เริ่มจากการประกวดสุนทรพจน์เดี่ยวไปจนถึงการรวมทีมเพื่อแข่งโต้วาทีในระดับชาติค่ะ นอกจากนี้ ยังมีชมรมศาลจำลองด้วย ทุกคนจริงจังกันมากเลยค่ะ
(ที่ญี่ปุ่นนั้นไม่ค่อยมีการแข่งพูดสุนทรพจน์หรือโต้วาที แต่จะมีการแข่งขันอื่น ๆ อย่างเช่นการร้องประสานเสียงที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จักในวงกว้าง)
พัฒนา: ที่ไทยมีการแข่งกีฬากันทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยนะครับ แล้วทุกคนก็จะสนิทกันมากเลยทีเดียว
และยังรวมไปถึงเรื่องภาษาท้องถิ่นอีกด้วย
ประสบการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในการมาเป็นนักศึกษานานาชาติที่เกียวโตนั้นก็คือภาษาญี่ปุ่นท้องถิ่นที่ต่างจากภาษากลางครับ เพราะที่เกียวโตนั้นพูดภาษาคันไซซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่คนน่าจะรู้จักกันดีที่สุด
อดิคา: ผมคิดว่าภาษาท้องถิ่นก็เป็นคัลเจอร์ช็อคเรื่องนึงของผมครับ ตอนนี้ผมพูดภาษาคันไซได้แล้ว และกลับรู้สึกยากเวลาที่ต้องพูดภาษาสุภาพหรือภาษากลางครับ บ่อยครั้งเลยครับที่ผมต้องเงียบไปในระหว่างการสนทนา แต่ว่าตอนนี้ผมชอบภาษาคันไซมากนะครับ รู้สึกว่าเป็นภาษาที่เฟรนด์รี่ครับ
แคทรีนา: พอคนญี่ปุ่นเห็นคนต่างชาติพูดภาษาคันไซก็จะรู้สึกดีใจนะคะ โดยเฉพาะคนคันไซ เมื่อวานฉันได้คุยกับคนญี่ปุ่นคนนึงเป็นครั้งแรก แต่พอฉันพูดภาษาคันไซปุ๊บบทสนทนาก็คึกคักขึ้นมาทันทีเลย เป็นรีแอคชั่นที่ฉันแทบไม่เคยเห็นมาก่อนเลยค่ะ (หัวเราะ)
สำหรับนักศึกษานานาชาติที่มาร่วมพูดคุยกับเราในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าประสบการณ์คัลเจอร์ช็อคจะเป็นการที่พวกเขาได้กลับไปสำรวจวัฒนธรรมของตัวเอง และทำความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่พวกเขาไปเรียนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น อาจจะมีบ้างที่รู้สึกไม่สบายใจ แต่ประสบการณ์คัลเจอร์ช็อคเป็นเรื่องที่เราควรจะคาดการณ์ไว้ในการมาเรียนที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกียวโตนะครับ