ความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture Shock) จากประสบการณ์ของนักศึกษาในเกียวโต
2018.03.13
การใช้คำภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นและอักษรคาตาคานะ
คุณเพิงเฟย : ที่ญี่ปุ่นมีคำที่เขียนด้วยอักษรคาตาคานะเยอะนะครับ แม้ว่าหลายคำจะมีคำภาษาญี่ปุ่นที่มีความหมายเดียวกัน แต่ก็มักจะใช้อักษรคาตาคานะมากกว่า ซึ่งในบรรดาคำเหล่านี้มีคำที่ผมไม่เข้าใจหลายคำเลยครับ
คุณมุก : ยิ่งเดี๋ยวนี้ คำไหนเป็นคำภาษาอังกฤษทีเขียนด้วยอักษรคาตาคานะ หรือคำไหนเป็นคำภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่น บางทีก็แยกไม่ออกนะคะ
คุณแคทรีนา : จริงด้วยค่ะ บางคำความหมายไม่เหมือนกับคำภาษาอังกฤษเลยก็มี เช่น คำว่า manshon หรือ mansion ในภาษาอังกฤษจะหมายถึง คฤหาสน์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเศรษฐี ซึ่งต่างกับ manshon ในภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงอพาร์ทเมนท์ทั่วไป ถ้าฉันกลับไปที่อเมริกาแล้วบอกทุกคนว่าฉันอยู่ manshon ทุกคนคงคิดว่าพ่อของฉันเป็นผู้บริหารธุรกิจใหญ่หรืออะไรสักอย่างแน่นอนเลยค่ะ
การทิ้งขยะที่ญี่ปุ่น
คุณโมโน : ผมรู้สึกแปลกใจมากครับว่าทำไมใจกลางเมืองเกียวโตถึงสะอาดมาก กระป๋องเปล่าสักชิ้นก็แทบจะไม่มีตกหล่นอยู่ให้เห็นเลย อยากจะเอาสิ่งนี้กลับไปที่อินโดนีเซียมากที่สุดเลยครับ
คุณฮเยจิน : น่าจะเป็นเพราะการแยกขยะที่เกียวโตค่อนข้างเข้มงวดนะคะ
คุณแคทรีนา : ถ้าเห็นคนยืนงงหน้าถังขยะหลายชนิดที่วางเรียงกันอยู่ในมหาวิทยาลัย เดาได้ทันทีเลยค่ะว่าต้องเป็นนักศึกษาต่างชาติมาใหม่แน่ ๆ ต้องหยุดยืนอ่านป้ายที่ติดอยู่หน้าถังขยะทุกอันก่อน มีทั้งถังขยะสำหรับกระดาษ พลาสติก และขยะเผาได้ ซึ่งบางทีขยะที่อยู่ในมืออาจจะเป็นพลาสติกที่มีกระดาษติดอยู่ นักศึกษาที่มาใหม่ก็จะงง ๆ หน่อยนะคะ
คุณโมโน : ผมเคยโดนดุเรื่องการทิ้งขยะรวมกันโดยไม่แยกให้ดี และเอาขยะไปทิ้งผิดวันครับ แอบตกใจนิดหน่อยครับ
คุณแคทรีนา : ฉันเคยได้ยินเรื่องที่นักเรียนโดนตำหนิเรื่องการแยกขยะค่ะ ตอนจะทิ้งเลยค่อนข้างระมัดระวังพอสมควร ถ้าแยกขยะไม่เป็น ขยะก็จะเต็มบ้านไปหมดนะคะ ฉันเคยไปบ้านเพื่อนนักศึกษาต่างชาติแล้วมีขยะกองสูงเชียวค่ะ ทุกคนก็จะบอกว่าไม่รู้จะแยกขยะยังไงดี เป็นปัญหาหนักอกหนักใจของนักศึกษาต่างชาติค่ะ (หัวเราะ)
คุณมุก : ที่บ้านฉันตอนนี้ก็มีอยู่ 4 ถุงค่ะ (หัวเราะ)
ที่ญี่ปุ่น พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์นี่เวลาจะทิ้งค่อนข้างยากนะคะ ต้องติดต่อให้บริษัทเก็บขยะประเภทนี้มาเก็บและมีค่าใช้จ่ายด้วย
คุณโมโน : ตอนผมทิ้งขยะชิ้นใหญ่อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ก็เรียกบริษัทมาเก็บไปนะครับ อันที่จริงก็รู้สึกขอบคุณที่เขามาเก็บขยะให้ แต่ก็ยังรู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงต้องจ่ายเงินด้วยนะครับ
ความแตกต่างเรื่องรายการทีวี
คุณโมโน : รายการทีวีของญี่ปุ่นมักจะมีตัวหนังสือคำบรรยายตัวใหญ่ ๆ อยู่ด้วยนะครับ ตอนผมดูรายการทีวีของญี่ปุ่นจะรู้สึกรำคาญมากเพราะมีแต่ตัวหนังสือเต็มไปหมดเลยครับ
คุณแคทรีนา : แนวโฆษนาในทีวีก็ต่างกับที่อเมริกามากเลยค่ะ โฆษณาของญี่ปุ่นตลกนะคะ ฉันคิดตลอดเลยว่าทำไมโฆษณาแบบนี้ถึงขายของได้ (หัวเราะ) ไม่เหมือนกับโฆษณาของอเมริกาเลยค่ะ
คุณฮเยจิน : ฉันคิดว่าโฆษณาของญี่ปุ่นค่อนข้างมีข้อมูลเยอะไปหน่อยนะคะ คำบรรยายค่อนข้างเยอะ สื่อสารข้อมูลออกมาทีละมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน ที่เกาหลีจะเป็นในลักษณะโฆษณาที่ทำให้เห็นภาพรวมมากกว่าค่ะ
คุณเยอึน : และ (โฆษณาของเกาหลี) เมื่อดูจนจบแล้วจึงจะเข้าใจว่าโฆษณาอะไร ไม่ค่อยมีคำบรรยายนะคะ
การดื่มสังสรรค์ในญี่ปุ่น
คุณแคทรีนา : ฉันคิดว่าที่อเมริกาถ้าไปดื่มสังสรรค์ด้วยกันแล้ว หลังจากนั้นทุกคนก็จะสนิทกันมากขึ้นนะคะ แต่ที่ญี่ปุ่นหลังจากไปดื่มด้วยกันแล้ว วันต่อมาก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยค่ะ ก็ยังคง “ครับ ใช่ครับ” อยู่เหมือนเดิม (หัวเราะ)
(นักศึกษาคนอื่นที่เหลือก็เห็นด้วยกับคุณแคทรีนาอย่างยิ่ง)
คุณโมโน : (หัวเราะ) จริงด้วยนะครับ
คุณมุก : ตอนที่ฉันพึ่งมาญี่ปุ่นได้ 2 วันก็มีงานดื่มสังสรรค์ค่ะ ทุกคนในงานสนุกสนานบันเทิงกันมาก ฉันเลยคิดว่าทุกคนเป็นคนสนุกสนานดีจังเลย แต่พอวันต่อมาทุกคนก็เงียบกันหมดเลยค่ะ สองสัปดาห์ต่อมาก็ยังคงเงียบ ๆ เรียบร้อยกันอยู่เหมือนเดิมเลยค่ะ (หัวเราะ)
คุณแคทรีนา : พอฉันรู้ว่าวันต่อไปทุกคนก็จะกลับไปเป็นปกติเหมือนเดิม ฉันจึงคิดว่างานดื่มสังสรรค์อาจจะไม่ใช่ที่สำหรับจะสนิทกันก็เป็นได้นะคะ
(ถ้าจะให้สนิทกันจริง ๆ น่าจะเป็นตอนที่เริ่มออกไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ๆ ก็ได้นะคะ)
คุณโมโน : ที่ออกไปดื่มได้บ่อย ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ญี่ปุ่นราคาไม่แพงมากก็ได้นะครับ
คุณมุก : จริงด้วยค่ะ ที่ไทยไม่มี nomihodai นะคะ (nomihodai คือการบริการที่ให้ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มได้ไม่จำกัด โดยคิดราคาแบบเหมาจ่ายและจำกัดเวลา เหมือนการทานอาหารบุฟเฟ่ต์ในไทย)
คุณโมโน : นอกจากค่าเครื่องดื่มจะค่อนข้างถูกแล้ว ยังไม่ค่อยมีข้อจำกัดเรื่องการออกไปดื่มข้างนอกด้วยนะครับ อย่างที่นิวยอร์กเราจะไม่สามารถดื่มแอลกอฮอล์ในสวนสาธารณะแบบในญี่ปุ่นนะครับ
คุณเยอึน : ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าเครื่องแอลกอฮอล์ที่ญี่ปุ่นถือว่าถูกรึเปล่า แต่ถ้าเป็นพวกเสื้อผ้าล่ะก็ แพงกว่าที่เกาหลีมากเลยค่ะ ฉันคิดว่าอาจจะเพราะพวกเครื่องประดับตกแต่งบนเสื้อผ้าค่อนข้างเยอะเลยทำให้แพง จริง ๆ แล้วเรียบ ๆ ก็สวยดีนะคะ (หัวเราะ)
ความแตกต่างด้านแฟชั่น
คุณมุก : พอพูดถึงเรื่องเสื้อผ้าแล้ว ฉันคิดว่าเสื้อผ้าผู้หญิงญี่ปุ่นค่อนข้างแปลกนะคะ ช่วงหน้าหนาวพออากาศเย็นลง ทุกคนจะใส่กระโปรงสั้น แต่พอหน้าร้อนกลับใส่กระโปรงยาว มีใครคิดเหมือนกันมั้ยคะ ถ้าใส่กระโปรงยาวหน้าหนาวก็คิดว่าน่าจะอุ่นดี ทำไมถึงใส่กระโปรงยาวกับเสื้อแขนยาวในหน้าร้อนกันนะคะ
※ถึงตรงนี้มีคนให้ความเห็นว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนกลัวว่าจะโดนแดดเผาเลยใส่ชุดแบบที่คุณมุกพูดถึง ทุกคนจึงหัวเราะและรู้สึกเข้าใจได้
คุณโมโน : อ่อ เป็นอย่างนี้เองหรอครับ
คุณเยอึน : ฉันก็คิดเหมือนคุณมุกนะคะว่า ทำไมร้อนขนาดนี้แต่ยังแต่งตัวแบบนี้กันนะ
เราลองถามนักศึกษาต่างชาติแต่ละคนดูว่าที่ประเทศของแต่ละคนส่วนมากคนกังวลเรื่องแดดเผากันมั้ย หลายคนตอบว่า ก็มีบางระดับนึง แต่หลายคนก็ตอบว่า ส่วนมากจะแต่งตัวเข้ากับสภาพอากาศ
คุณแคทรีนาได้พูดถึงวัฒนธรรมของคนอเมริกันเกี่ยวกับเรื่องแดดเผาให้เราฟังดังนี้
คุณแคทรีนา : ที่อเมริกาหลายคนอยากโดนแดดเผานะคะ ถ้ามีคนบอกคุณว่าคุณดูผิวสีเข้มขึ้น นั่นถือเป็นคำชมค่ะ ที่ญี่ปุ่นอาจจะชมว่าดูผิวขาว แต่ที่อเมริกาถ้าพูดว่าผิวขาวจะเข้าใจว่าหมายถึงดูป่วย ๆ นะคะ ตอนเด็ก ๆ ฉันโดนดุบ่อยเลยค่ะว่า “หนูขาวเกินไปแล้วนะ ออกไปเล่นข้างนอกบ้างเถอะ”
พอมาที่ญี่ปุ่นทุกคนชมว่าฉันผิวขาว ก็รู้สึกดีใจนะคะ แต่ก็คิดว่าก่อนกลับอเมริกาจะต้องทำให้ผิวสีเข้มขึ้นซะก่อน (หัวเราะ)
Culture Shock เป็นประสบการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นะคะ แต่การได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติคนอื่น ๆ ก็จะช่วยให้ความรู้สึกดังกล่าวเบาลงได้อย่างแน่นอนค่ะ