Kyoto Styudy

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อที่ญี่ปุุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติในเกียวโต

STUDY KYOTO MAGAZINE

ความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture Shock) ของนักศึกษาต่างชาติ: เรื่องที่ควรคาดการณ์ไว้ก่อน

ความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture Shock) ของนักศึกษาต่างชาติ: เรื่องที่ควรคาดการณ์ไว้ก่อน

การใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเป็นเหมือนชีวิตในฝันของทุกคนที่นี่ ทุกอย่างรอบตัวล้วนแปลกใหม่ ตื่นเต้น โดยเฉพาะที่เกียวโตนั้นรายล้อมไปด้วยวัดวาอารามที่สวยงาม อีกทั้งการเข้าชมรมกิจกรรมต่าง ๆ ก็ทำให้มีเพื่อนคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย
ในการอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ๆ ที่ไม่ใช่การลาพักผ่อนเพื่อท่องเที่ยวสั้น ๆ 2 อาทิตย์ เราจะพบกับประสบการณ์ที่เป็นเหมือนแขกไม่ได้รับเชิญ นั่นก็คือ “ความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือ culture shock”
แต่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ culture shock เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาทุกคนที่เรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างวัฒนธรรม ดังนั้น ถ้าน้อง ๆ รู้สึกว่ากำลังเผชิญกับ culture shock อยู่ละก็ ขอให้คิดว่าเราไม่ได้อยู่เพียงลำพังนะคะ

Culture Shock คืออะไร?

Culture Shock นั้นสามารถแบ่งได้เป็นหลายระดับ โดยแต่ละคนอาจเผชิญประสบการณ์ในแต่ระดับมากน้อย หรือเผชิญบางระดับซ้ำอีกได้แตกต่างกันไป

ระดับที่ 1: ช่วงฮันนีมูน

เช่นเดียวกับคู่รักข้าวใหม่ปลามัน ช่วงฮันนีมูนเป็นช่วงที่ทุกคนยังไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ยังสามารถมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นรอบตัวในเชิงบวกได้ เป็นช่วงเวลาที่ทุกอย่างเป็นความตื่นเต้นแปลกใหม่ มุมมองที่ทุกคนมองญี่ปุ่นในช่วงนี้จะเป็นมุมมองเดียวกับนักท่องเที่ยว หรือคนที่มาอาศัยอยู่ญี่ปุ่นเป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ

ระดับที่ 2: Culture Shock

ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของ “ความผิดหวัง” หรือ “การต่อรอง” ซึ่งเกิดขึ้นกับคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเป็นระยะเวลานานระดับหนึ่ง ประกายแสงในช่วงฮันนีมูนได้เลือนหายไป สภาพแวดล้อมรอบตัวไม่ใช่สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ของต่างประเทศอีกต่อไป ไม่รู้สึกถึงความแปลกใหม่ตื่นเต้นเหมือนครั้งแรกที่ได้ลองกินอาหาร เจอผู้คน หรือสัมผัสกับวัฒนธรรมต่าง ๆ ในทางกลับกัน มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเชิงลบต่อความแตกต่างเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
ในช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่รู้สึกสับสนหรือผิดหวัง เริ่มวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมของประเทศที่กำลังอาศัยอยู่ และคาดหวังให้คนรอบตัวทำสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องที่สมควร (เช่น อยากให้ปฏิบัติแบบเดียวกับคนที่ประเทศของเราปฏิบัติ) นอกจากนี้ ยังมีความรู้สึกท้อแท้หรือไม่พอใจกับทักษะการสื่อสารของตัวเอง บางคนรู้สึกหม่นหมอง หรือเกิดอาการคิดถึงบ้าน
แต่นั่นเป็นเรื่องปกติมาก ๆ เลยค่ะ!!
ความรู้สึกนี้เป็นขั้นหนึ่งของการปรับตัวทางวัฒนธรรมที่หลาย ๆ คนเจอ เราจะต้องพึงระวังไม่ให้ตัวเองจมอยู่กับความผิดหวัง อาจให้เพื่อนรอบตัวคอยช่วยเหลือ การที่เรารู้สึกว่ามีคนที่คอยเข้าใจเราอยู่จะช่วยได้ค่ะ ลองเล่าปัญหาของเราให้เพื่อนฟังดูนะคะ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญก็คือการเปิดใจกว้าง (ไม่ลำเอียง) ต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมค่ะ

ระดับที่ 3: การปรับตัว

หากผ่านช่วงที่เป็นอุโมงค์มืดมาแล้วก็จะเจอขั้นต่อไปที่รอเราอยู่ เมื่อเราใช้เวลาหลายเดือน เราก็จะรู้ว่าเราควรคาดหวังอะไรจากประเทศที่เราอาศัยอยู่ แม้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวจะไม่ได้เปล่งประกายสดใสเหมือนใหม่ แต่เราจะเริ่มเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตัวเรามากขึ้น เริ่มรับความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรมได้มากขึ้น ไม่รู้สึกผิดหวังท้อแท้อีกต่อไป ในขั้นตอนนี้เองที่เราเริ่มเข้าใจว่าเราควรจะใช้ชีวิตอยู่ในบริบทวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างไรจึงจะเหมาะสม และเริ่มมองเห็นข้อดีของข้อกำหนดทางวัฒนธรรมได้

ระดับที่ 4: การผสมกลมกลืน

เมื่อมาถึงขั้นสุดท้ายของระดับ culture shock ซึ่งอาจจะใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี เราจะเริ่มรู้สึกถึงความสบายและความคุ้นเคยในบริบทวัฒนธรรมของประเทศที่เราอาศัยอยู่ ในระดับสุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมนั้นโดยถ่องแท้ หรือปรับเปลี่ยนตัวเองตามวัฒนธรรมนั้นโดยสมบูรณ์ แต่เราจะไม่รู้สึกยากลำบากในการใช้ชีวิตในบริบทวัฒนธรรมของประเทศที่เราอาศัยอยู่ มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของตัวเอง และปรับใช้วัฒนธรรมใหม่นี้อย่างเหมาะสม
บางคนอาจเจอประสบการณ์ culture shock เพิ่มอีก 2 ระดับ โดยสำหรับคนที่รู้สึกมีความสุขมาก ๆ ในช่วงฮันนีมูน อาจเข้าสู่ระดับที่เกิดความผิดหวังและการปรับตัวเช่นเดียวกัน แต่จะเป็นเพียงระดับผิวเผินเท่านั้น และเมื่อผ่านช่วงเวลาปรับตัวแบบผิวเผินมาแล้ว จะเกิดความรู้สึก culture shock กับแง่มุมทางวัฒนธรรมหรือความสัมพันธ์กับผู้คนในเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งเมื่อผ่านไปได้ ก็จะเข้าสู่ระดับการผสมกลมกลืนต่อไป
อีกประเภทหนึ่งคือ คนที่กลับประเทศตัวเองไปแล้วเจอกับความรู้สึกถึง “ความแตกต่างทางวัฒนธรรมในประเทศของตัวเอง (reverse culture shock)” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันค่ะ

ประสบการณ์ culture shock ของนักศึกษาในเกียวโต

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะเจอประสบการณ์แบบเดียวกับในบทความนี้เสมอไปนะคะ Study Kyoto ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษาที่เรียนอยู่ในเกียวโตเกี่ยวกับประสบการณ์ culture shock จริง ๆ ของพวกเขาดังนี้ค่ะ

IMG_3581

คุณโมโน (จากอินโดนีเซีย) : ผมรู้สึกแปลกใจมากครับว่าทำไมใจกลางเมืองเกียวโตถึงสะอาดมาก กระป๋องเปล่าสักชิ้นก็แทบจะไม่มีตกหล่นอยู่ให้เห็นเลย อยากจะเอาสิ่งนี้กลับไปที่อินโดนีเซียมากที่สุดเลยครับ

คุณฮเยจิน (จากเกาหลี) : น่าจะเป็นเพราะการแยกขยะที่เกียวโตค่อนข้างเข้มงวดนะคะ

คุณแคทรีนา (จากอเมริกา) : ถ้าเห็นคนยืนงงหน้าถังขยะหลายชนิดที่วางเรียงกันอยู่ในมหาวิทยาลัย เดาได้ทันทีเลยค่ะว่าต้องเป็นนักศึกษาต่างชาติมาใหม่แน่ ๆ ต้องหยุดยืนอ่านป้ายที่ติดอยู่หน้าถังขยะทุกอันก่อน มีทั้งถังขยะสำหรับกระดาษ พลาสติก และขยะเผาได้ ซึ่งบางทีขยะที่อยู่ในมืออาจจะเป็นพลาสติกที่มีกระดาษติดอยู่ นักศึกษาที่มาใหม่ก็จะงง ๆ หน่อยนะคะ (หัวเราะ)

สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักศึกษาต่างชาติในเกียวโตได้ที่นี่เลยค่ะ

บทความยอดนิยมPopular Articles

Categoryหมวดหมู่

Popular Articles บทความยอดนิยม

Categoryหมวดหมู่