บทความพิเศษเกี่ยวกับคัลเจอร์ช็อค ครั้งที่ 2: ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับต่างชาติจากประสบการณ์ของนักศึกษานานาชาติ
2018.11.26
ประสบการณ์คัลเจอร์ช็อคหรือความรู้สึกแตกต่างทางวัฒนธรรมชองแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เรื่องที่เรารู้สึกแปลกใจมากที่สุดก็อาจจะไม่เหมือนกับคนอื่นใช่มั้ยครับ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม นักศึกษานานาชาติในเกียวโตหลายคนก็ได้เจอประสบการณ์หลายอย่างคล้าย ๆ กันครับ
ผมคิดว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะกำลังคิดถึงบทความพิเศษเรื่องคัลเจอร์ช็อคกันอยู่แน่ ๆ Kyoto Study จึงได้เชิญนักศึกษานานาชาติมาพูดคุยกันถึงประการณ์ของพวกเขาอีกครั้งครับ
เรื่องที่พึ่งสังเกตหรือรู้สึกแปลกใจที่ญี่ปุ่นในช่วงนี้
ครั้งนี้ Study Kyoto ได้เชิญ คุณแคทรีนา (จากอเมริกา) คุณเชาเจียและคุณฉวน (จากจีน) คุณพัฒนา (จากไทย) และคุณอดิคา (จากอินโดนีเซีย) มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ของพวกเขากันครับ
แล้วพวกเขารู้สึกคัลเจอร์ช็อคที่ญี่ปุ่นตอนไหนกันบ้างนะ
วิธีการสื่อสาร
ตอนประชุม
แคทรีนา: เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฉันมีโอกาสได้ร่วมอีเว้นท์นึงค่ะ โดยผู้บรรยายได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการประชุมที่ญี่ปุ่นกับต่างประเทศ เขานำเสนอว่าการประชุมของต่างประเทศนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่าง ซึ่งฉันเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ แล้วที่ญี่ปุ่นล่ะเป็นยังไง เขาก็บอกว่าการประชุมที่ญี่ปุ่นนั้นมีเพื่อแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกันเท่านั้น และฉันก็คิดว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ด้วย การประชุมที่ญี่ปุ่นอารมณ์ประมาณนี้สินะคะ บางครั้งหลังประชุมกิจกรรมชมรมที่โรงเรียนเสร็จ ฉันก็คิดในใจว่า “เดี๋ยวก่อนสิ การประชุมวันนี้เพื่ออะไร เรายังไม่ได้ตัดสินใจอะไรกันเลยนะ” (ทุกคนหัวเราะ)
แต่วัตถุประสงค์ของการประชุมก็เพื่อแชร์ความเห็นกันใช่มั้ยคะ
เชาเจีย: การชุมที่จีนมีเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาหรือโจทย์ต่าง ๆ แน่นอนว่าก็ต้องมีการแชร์ข้อมูลด้วย แต่ก็หมายถึงการที่ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นนะคะ
อดิคา: ที่อินโดนีเซียก็เหมือนกันครับ มีการแชร์ข้อมูลนะครับ แต่การประชุมก็จะมีเป้าหมาย แล้วก็ตัดสินใจว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร
แคทรีนา: กิจกรรมชมรมที่ญี่ปุ่น ทุกคนก็จะมารวมตัวกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แต่ละคนก็จะพูดความเห็นของตัวเอง ตอนสุดท้ายหัวหน้าชมรมก็จะเป็นคนตัดสินใจ ฉันคิดว่าเป็นลักษณะนี้ค่อนข้างมากค่ะ ที่อเมริกาทุกคนจะมารวมตัวกันแล้วก็ตัดสินใจที่นั่นตอนนั้นเลย แต่ที่ญี่ปุ่นมักมีการตัดสินใจหลังจากประชุมเสร็จแล้ว ฉันคิดว่านี่เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมค่ะ
พัฒนา: ผมคิดว่าไทยก็คล้ายกับญี่ปุ่นนะครับ ทุกคนมารวมกันแล้วก็พูดคุย แต่ก็จะมีคนตัดสินใจเพียงคนเดียว
เกี่ยวกับความถ่อมตัว
ความอ่อนน้อมถ่อมตัวนั้นฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยจะเห็นได้จากการมีวิธีพูดโดยใช้คำศัพท์รูปถ่อมตัวเพื่อแสดงความนอบน้อม จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยหากนักศึกษานานาชาติจะรู้สึกตกใจกับวัฒนธรรมนี้
แคทรีนา: ฉันคิดว่าคนญี่ปุ่นหากไม่มั่นใจว่าตัวเองจะมีความสามารถมากพอที่จะทำได้แล้ว ก็จะไม่ลองทำดู แต่พอมีความมั่นใจขึ้นมาแล้วละก็ พวกเขาจะทุ่มสุดตัวเลยทีเดียวค่ะ ยกตัวอย่างเช่น มีคนญี่ปุ่นหลายคนเลยที่เล่นเปียโนเป็น แต่ถ้าไม่ใช่มืออาชีพคนญี่ปุ่นก็จะไม่บอกว่าตัวเองเล่นเปียโนเป็น อย่างภาษาอังกฤษก็เหมือนกันค่ะ คนต่างชาติที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่หลายคนก็จะบอกว่าตัวเองพูดภาษาอังกฤษได้ แต่คนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยพูดแบบนั้นค่ะ ทั้ง ๆ ที่หลายคนก็พูดได้นิดหน่อยนะคะ
พัฒนา: แต่ว่าพอไม่มั่นใจแล้วไม่พูดว่าทำได้ เลยทำให้ดูเหมือนว่าทำไม่ได้ไปเลยนะครับ
เกี่ยวกับการพูดคุย
แคทรีนา: ที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีคาบเรียนที่ให้นักเรียนดีเบทหรือพรีเซ้นท์ปากเปล่านะคะ (ทุกคนหัวเราะและพยักหน้า)
อดิคา: ในคาบเรียนใหญ่ ๆ พออาจารย์ถามว่า “มีใครมีความเห็นบ้างมั้ย” ก็จะไม่มีใครพูดอะไร ส่วนมากก็จะเป็นนักศึกษานานาชาติที่ยกมือตอบคำถามครับ
แคทรีนา: มีแบบนี้บ่อยเลยค่ะ (หัวเราะ) พออาจารย์ถามความเห็น นักศึกษานานาชาติก็ตอบ (ทุกคนยกมือแล้วหัวเราะ) แล้วส่วนมากทั้งห้องก็พึ่งสังเกตได้ตอนนั้นว่าในห้องมีนักศึกษานานาชาติอยู่ค่ะ
อดิคา: บางทีนักศึกษาญี่ปุ่นที่เคยไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศมาก็ยกมือตอบเหมือนกันนะครับ
พัฒนา: พอมีคำถาม ก็มักจะรอให้หมดคาบแล้วค่อยไปถามอาจารย์กันนะครับ
แคทรีนา: เคยเห็นแบบนี้ช่วงสอบค่ะ อาจารย์ถามเสียงดังมากว่าใครมีคำถามอะไรมั้ย แต่ก็ไม่มีใครถามอะไรนะคะ แต่พอหมดคาบปุ๊บ หน้าอาจารย์ก็มีนักศึกษายืนเรียงแถวกันยาวเลยค่ะ ฉันไม่เข้าใจเลย (หัวเราะ)
เชาเจีย: จริง ๆ แล้ว ที่จีนก็เป็นเหมือนกันค่ะ
พัฒนา: ที่ไทย หลายคนก็รอให้หมดคาบก่อนแล้วค่อยไปถามเหมือนกันครับ
(คุณแคทรีนาเลยถามถึงเหตุผล โดยคุณเชาเจียอธิบายว่าเป็นเพราะหลายคนรู้สึกเขิน และกลัวว่าหากถามในคาบเรียนจะทำให้เสียเวลาของนักศึกษาคนอื่นไปด้วย)
แคทรีนา: อืม… ถ้าเป็นที่อเมริกาฉันก็จะถามนะคะ ฉันคิดว่านักศึกษาคนอื่น ๆ ก็อาจจะมีคำถามเดียวกันอยู่ก็เป็นได้ และท้ายที่สุดก็ต้องไปเรียงแถวกันยาวอยู่ดี
ความแตกต่างเรื่องช่วงเวลาเริ่มภาคการศึกษา
สำหรับคนที่ไม่เคยไปเรียนต่างประเทศ ก็คงจะไม่เคยได้คิดถึงเรื่องช่วงเวลาเริ่มปีการศึกษามาก่อนใช่มั้ยครับ แต่สำหรับนักศึกษานานาชาติแล้วนี่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับพวกเขาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
แคทรีนา: เมื่อเร็ว ๆ นี้ฉันคุยกับนักศึกษาที่อเมริกา พอเขาได้ยินว่าที่ญี่ปุ่นเริ่มปีการศึกษาเดือนเมษายนก็ตกใจมากเลยค่ะ ที่จีนเป็นยังไงหรอคะ
ฉวน: ที่จีนเราจบปีการศึกษาเดือนมิถุนายน และเริ่มปีการศึกษาใหม่เดือนกันยายนครับ
แคทรีนา: ถ้าอย่างนั้นก็เหมือนกับที่อเมริกานะคะ จบปีการศึกษาเดือนมิถุนายน เริ่มเดือนกันยายน หรือบางที่ก็จบเดือนพฤษภาคม เริ่มภาคการศึกษาใหม่เดือนสิงหาคมค่ะ
อดิคา: ที่อินโดนีเซียก็คล้าย ๆ กันนะครับ ถ้าไม่นับว่ามีเดือนเราะมะฎอน พอนับเดือนเราะมะฎอนเข้ามาด้วยแล้ว ภาคการศึกษาก็จะเปลี่ยนไปครับ เดือนเราะมะฎอนจะเคลื่อนไปข้างหน้าในทุก ๆ ปี วันหยุดของปีการศึกษาจึงเปลี่ยนไปตามเดือนเราะมะฎอนครับ ปีการศึกษาจะเริ่มหลังจากสิ้นสุดเดือนเราะมะฎอน ดังนั้นปีการศึกษาใหม่จึงมักจะเริ่มช้ากว่าปีการศึกษาที่แล้ว และเดือนเราะมะฎอนก็กลายมาเป็นช่วงปิดเทอมหน้าร้อนนั่นเองครับ
* เดือนเราะมะฎอนนับตามปฏิทินจันทรคติ ทำให้ช่วงเวลาเปลี่ยนไปในแต่ละปี
พัฒนา: ที่ไทยจะเริ่มปีการศึกษาใหม่เดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน แต่ว่าภาคการศึกษาของโรงเรียนมัธยมกับมหาวิทยาลัยก็จะต่างกันนะครับ
แคทรีนา: ถ้าอย่างนั้นก็น่าจะมีแค่ญี่ปุ่นที่เริ่มภาคการศึกษาใหม่เดือนเมษายนนะคะ
อดิคา: ดูเหมือนว่าเพื่อนคนญี่ปุ่นของผมจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้เท่าไหร่นะครับ เพราะผมเริ่มมาเป็นนักศึกษาที่นี่ตอนช่วงฤดูใบไม้ร่วง ทำให้เพื่อน ๆ ไม่รู้ว่าผมเรียนอยู่ปีอะไรกันแน่น่ะครับ (หัวเราะ)
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่านักศึกษานานาชาติจะมีประสบการณ์คัลเจอร์ช็อคหลังจากเปิดภาคการศึกษาอีกด้วยครับ